fbpx

Posts Tagged Helicopter

Safety Warning : รู้ทัน แก้ไข ปลอดภัยกว่า

ในฐานะที่ทีมงานของเรา เป็นผู้ให้การอบรมการกู้ภัยด้วยอากาศยาน (Helicopter Rescue) ให้กับพล. ร.9 และตรวจสอบความปลอดภัยของการแสดง ในวันกองทัพไทยที่ผ่านไปอย่างเรียบร้อยนั้น เราได้กลับมาทบทวนและวิเคราะห์ภาพการฝึกที่ได้บันทึกไว้ และพบปัญหาด้านความปลอดภัย ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่อาจถูกมองข้ามไปในการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้เอง จะเป็นข้อมูลให้กับหลายๆหน่วยงานในประเทศ และย้ำถึงความสำคัญของการเลือกใช้และปฏิบัติกับอุปกรณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เราจึงนำบทเรียนจากการฝึก ซึ่งโชคดีที่ยังไม่เกิดความสูญเสีย มาฝากให้ทราบกันครับ

สถานการณ์จำลองที่ได้กำหนดขึ้นนั้น ได้มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วยทีมโรยตัวด้วยเชือกแบบเร่งด่วน (Fast Rope) ในเฮลิคอปเตอร์ลำแรก และทีมโรยตัว (Rappelling) ในลำที่สอง ซึ่งทั้ง 2 ทีมจะปฏิบัติภารกิจโรยตัวและมีการยิงปะทะผู้ก่อการร้าย ทั้งในอาคารและบนภาคพื้น หลังจากการยิงปะทะสิ้นสุดลง เฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 ลำ จะทำการบินกลับมารับทหารผู้บาดเจ็บจากการปะทะจำนวน 2 นาย เพื่อนำส่งไปรักษายังหน่วยแพทย์ใกล้เคียงให้ทันท่วงทีต่อไป

ในสถานการณ์จำลองที่กำหนดนั้น ได้มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย ทีมโรยตัวด้วยเชือกแบบเร่งด่วน (Fast Rope) ในระหว่างแสดงการสาธิตอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติภารกิจจำลอง ซึ่งต้องทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด เพื่อกระชับภารกิจให้จบอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของชุดที่จะทำการโรยตัวนั้น จะต้องใช้เวลาพอสมควรสำหรับการปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ใส่ถุงมือที่หลวมและหนา ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ประกอบอากาศยาน ในขณะที่สวมถุงมืออยู่ได้ รวมไปถึงการปิดล็อคคาราบิเนอร์อย่างถูกต้องปลอดภัยด้วยเช่นกัน

จากการที่ต้องปฏิบัติให้ทันเวลาการแสดงนั้น ส่งผลให้มีความเร่งรีบเกิดขึ้น ทำให้การใช้งานคาราบิเนอร์นั้น ไม่ได้ถูกปิดล็อคอย่างสมบูรณ์ ซึ่งการทำเช่นนี้อาจทำให้เกลียวล็อคของคาราบิเนอร์ คลายและเปิดออกได้อย่างรวดเร็ว

จากการวิเคราะห์ด้วยภาพวีดิโอแล้ว เราพบสาเหตุของปัญหา กล่าวคือคาราบิเนอร์ทั้งหมดในการแสดงสาธิตการเคลื่อนย้ายด้วยอากาศยาน (Short-Haul) ครั้งนี้ ไม่ได้ถูกล็อค ซึ่งคาราบิเนอร์จะเป็นอุปกรณ์เกี่ยวโยงระหว่างเชือกและผู้ปฏิบัติเพียงชิ้นเดียว ที่เจ้าหน้าที่จะต้องฝากชีวิตไว้ขณะที่ห้อยตัวอยู่ใต้เฮลิคอปเตอร์ ที่ความสูงกว่า 150 เมตร เหนือพื้นดิน ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับคาราบิเนอร์แล้ว เจ้าหน้าที่ท่านนั้นอาจจะตกลงมาบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลยทีเดียว

จากภาพที่เราบันทึกไว้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้บาดเจ็บ ได้หมุนเกลียวล็อคคาราบิเนอร์ไว้ อย่างเร่งรีบและไม่สมบูรณ์ เนื่องจากใช้ถุงมือที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกลียวไม่ได้ถูกหมุนล็อคจนสุด ประกอบกับแรงสั่นสะเทือนของเฮลิคอปเตอร์ อาจจะทำให้เกลียวล็อคคลายออกได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที

ข้อแนะนำ :

การเลือกใช้ถุงมือที่เหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญในแต่ละปฏิบัติการณ์ เพื่อให้สามารถใช้งานมือของเราได้อย่างปกติแม้ในขณะสวมถุงมือ ซึ่งถุงมือหนังแบบหนาและหลวมนั้น อาจจะมีราคาถูก แต่จำเป็นต้องแลกด้วยความเสี่ยงถึงชีวิตหรือไม่ เพราะผู้สวมใส่จะไม่สามารถใช้มือหรือนิ้ว สำหรับทำงานทั่วไปได้อย่างถนัดอย่างแน่นอน และส่งผลไปถึงความอันตรายนานับประการที่อาจเกิดขึ้นได้ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยนั้น อาจมีสาเหตุโดยตรงมาจากการเลือกใช้ถุงมือที่ไม่เหมาะสม

นอกเหนือจากนี้ แนะนำให้มีการใช้คาราบิเนอร์แบบล็อคอัตโนมัติ (Auto-Locking) ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้งานกับอากาศยาน ที่มีปัจจัยเรื่องแรงสั่นสะเทือน แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้งานคาราบิเนอร์แบบเกลียวล็อค ท่านต้องแน่ใจและมั่นใจได้ว่า เกลียวล็อคนั้นได้ถูกหมุนล็อคจนสุดแล้วเท่านั้นก่อนการปฏิบัติ

สนใจสอบถามข้อมูล จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของเรา ได้ที่ Safe House ครับ

Tags: , , , , , , ,

มุมมองบนฟ้า: ภารกิจกู้ภัยทางอากาศของกองทัพบก

httpvh://www.youtube.com/watch?v=UrvDHBk6wQY

เจ้าหน้าที่กู้ภัย ให้สัญญาณระหว่างการเคลื่อนย้าย ผู้บาดเจ็บทางอากาศยาน

ภาพวีดีโอการฝึกกู้ภัยทางอากาศ ของกองทัพบก

ในขณะที่ปัญหาน้ำท่วมยังไม่หมดไปจาก กทม. ทุกหน่วยงานต่างเตรียมการรองรับ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่ย่อแท้ เราทุกคนต่างมุ่งมั่น เพื่อให้การช่วยเหลือนั้นเข้าไปถึงยังจุดที่ต้องการ ได้รวดเร็วและทันท่วงที กองทัพบกเองนอกเหนือจากระดมกำลังพล และยานพาหนะเข้าช่วยพี่น้องผู้ประสบภัยแล้ว ยังได้มีการเตรียมการเพื่อเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย ที่ยานพาหนะอื่นใดเข้าไปไม่ถึง ด้วยการฝึกเคลื่อนย้ายทางอากาศยานโดยไม่ใช้รอกกว้านไฟฟ้า Short Haul Training

ซึ่งเป็นวิธีการสากลที่หน่วยงานทางทหาร, ตำรวจ, หน่วยกู้ภัย, กรมอุทยานนานาประเทศ ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในภารกิจกู้ภัยทางอากาศ และเพื่อใช้งานเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้ง UH-1H, 212, 412, Jet Ranger, Long Ranger, AStar ให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ ในการขนย้ายผู้บาดเจ็บ, นำส่งผู้รอดชีวิตออกจากจุดเกิดเหตุ, ช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่กลางกระแสน้ำหลาก, หลงป่า, นำนักบินออกจากจุดเกิดเหตุ หรือกู้ภัยในพื้นที่เฮลิคอปเตอร์ตก, ส่งอาหาร น้ำ และยารักษาโรค ให้ประชาชนสามารถนำไปบริโภค ฯลฯ

การฝึกครั้งนี้ มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเรา ได้เข้าไปช่วยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การฝึกเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีความปลอดภัยสูงสุด ผมขอนำภาพตัวอย่างการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บทางอากาศมาให้ชม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าไปอีกขั้น กับภารกิจการบรรเทาสาธารณภัย และร่วมกันภูมิใจในความสามารถของทหารไทย ที่ในยามศึกก็มีความสามารถทางการรบ ในยามวิกฤตบ้านเมือง ทหารก็สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนครับ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับการกู้ภัยทางอากาศ และอุปกรณ์กู้ภัยประกอบอากาศยาน ได้ที่ Safe House ครับ

Tags: , , , , ,

ความทรงจำ ก่อนตะวันจะลับฟ้า พล.ต.ตะวัน เรืองศรี

พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ครั้งยังดำรงตำแหน่ง ผบ.จทบ.ก.จ. เยี่ยมชมการฝึกกู้ภัยทางอากาศ

การฝึกกู้ภัยด้วยอากาศยาน ประกอบเปลกู้ภัยทางอากาศ

กว่า 2 ปีมาแล้ว ที่ทีมงานและวิทยากรของ Safe House ได้ทำการฝึกอบรมการกู้ภัยทางอากาศ ชนิดยกนอกตัวอากาศยาน โดยไม่ใช้รอกกว้านไฟฟ้า ซึ่งเป็นการฝึกกู้ภัยทางอากาศขั้นสูง ให้กับกำลังพลของร้อย ลว.ไกล 9 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ เพื่อยกระดับศักยภาพการนำส่งทางอากาศยาน ให้กับเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก การฝึกในครั้งนั้นมีวิทยากรจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ และการช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ มาให้ความรู้และฝึกปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วย เราได้รับรู้ถึงความกระตือรือร้นและสนใจ ของผู้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน จนการฝึกผ่านไปอย่างเรียบร้อยและปลอดภัย ในการอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประกอบการฝึกร่วมกับอากาศยาน โดยได้รับความร่วมมือจากนักบิน และช่างอากาศยานของสนามบิน พล.ร.9 รอ. เป็นอย่างดี

ในช่วงระหว่างการฝึกกับอากาศยาน ผู้บังคับบัญชาระดับสูง พันเอก ตะวัน เรืองศรี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกกาญจนบุรี ได้มากำกับดูแลและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด จากการได้สัมผัสท่านในวันนั้น ทำให้เรารู้ว่าท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่เอาใจใส่ ตรงไปตรงมา เข้าถึงงาน ไม่ถือตัวและให้ความเป็นกันเอง กับพวกเราเป็นอย่างมาก สิ่งแรกที่ท่านย้ำ คือ ความปลอดภัยของกำลังพลต้องมาก่อนสิ่งอื่น ตลอดเวลาท่านคอยสอบถาม และเฝ้าดูอยู่ไม่ห่าง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราได้สัมผัส แต่ภาพในวันนั้น ยังอยู่ในความทรงจำของพวกเราจนปัจจุบัน เป็นภาพอีกมุมหนึ่งที่น้อยคนจะได้เห็น

จากเหตุเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ UH-1H ซึ่งตกในวันที่ 16 ก.ค. บริเวณพื้นที่สันแดนไทย-พม่า ใกล้บริเวณ 1,100 (ระดับความสูงของพื้นที่) ทำให้เราได้เห็น พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผบ. พล. ร.9 อีกครั้งในความพยายามเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมนำเสบียงไปส่งให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์กของกองทัพบก ก่อนการเดินทางท่านได้กล่าวกับสื่อมวลชน ถึงขั้นตอนและแผนงานในการลำเลียงผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่เกิดเหตุ และระดมการกู้ภัยทางอากาศ และการเดินเท้าเข้าถึงที่หมาย ซึ่งมีอุปสรรคด้านสภาพอากาศ และเป็นช่วงเวลาที่ฝนพรำประกอบกับทัศนวิสัยปิด ไม่เอื้ออำนวยต่อการบิน แต่ด้วยความตั้งใจให้ภารกิจครั้งนี้จบลงอย่างเรียบร้อย

การเคลื่อนย้ายทางอากาศระยะสั้น โดยไม่ใช้รอกกว้านไฟฟ้า Short Haul with UH-1H

และในฐานะผู้บังคับบัญชากองพล นอกจากความวิตกกังวล ในชะตากรรมของกำลังพลและความทุกข์โศกของครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว ท่านยังแสดงความจริงใจ ในการแก้ไขปัญหาอย่างสุดความสามารถ โดยไม่มีใครคาดคิดว่า เฮลิคอปเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ และเครื่องยนต์กำลังสูงอย่างแบล็คฮอว์ก ที่ท่านและเจ้าหน้าที่อีก 8 ชีวิตซึ่งโดยสารไปนั้น จะพ่ายแพ้สภาพอากาศที่เลวร้าย และตกในวันที่ 19 ก.ค. ในเขตร่องเขาของประเทศพม่า ซึ่งมีความสูงชัน ชื้น และเป็นป่ารกทึบ ห่างไปจากจุดตกของฮ.ลำแรกเพียงไม่ไกลนัก

จากเหตุการณ์นี้ ท่านแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร ระดมกำลังทหาร, เจ้าหน้าที่ป่าไม้, เจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมการสัตว์ทหารบก พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ Bell 212 จำนวน 2 ลำ จากศูนย์การบินทหารบก , เฮลิคอปเตอร์ Bell 212 ของกองบินตำรวจ, เฮลิคอปเตอร์ Bell 412 ของกองค้นหาและช่วยชีวิต ทอ., เฮลิคอปเตอร์ AStar ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, เฮลิคอปเตอร์ AStar และ Jet Ranger ของกระทรวงเกษตรฯ ร่วมปฏิบัติการค้นหา จนกระทั่งพบจุดที่แบล็คฮอว์กตกในวันที่ 22 ก.ค. อย่างไร้วี่แววผู้รอดชีวิต

พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ดูแลการฝึกกู้ภัยทางอากาศอย่างใกล้ชิด

ซ้ำร้ายในเวลา 9.30 น. ของวันที่ 24 ก.ค. เฮลิคอปเตอร์ Bell 212 ของกองทัพบก ซึ่งกลับจากการนำส่งร่างท่านตะวันและนายศรวิชัย ช่างภาพททบ.5 ที่ พล.ร. 9 จ.กาญจนบุรี โดยแวะบำรุงรักษาเครื่องและสลับชุดนักบินที่กรมทหารราบที่ 11 เขตบางเขน กทม. ได้ตกในขณะบินกลับมาเพื่อสนับสนุนภารกิจ ในจุดที่ห่างจากค่ายรบพิเศษแก่งกระจานไปเพียง 10 กิโลเมตร เป็นเหตุให้จำนวนผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 17 คน และช่างเครื่องรอดชีวิตเพียงคนเดียว ซึ่งขณะนี้ปลอดภัยแล้ว นับเป็นความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ ในภารกิจนอกพื้นที่การรบของศูนย์การบินทบ. และกองทัพบก

การกู้ภัยทางอากาศ และการทำงานร่วมกับอากาศยาน เป็นงานที่ท้าทายและมีความเสี่ยง มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ตั้งแต่ศักยภาพของเครื่อง ชั่วโมงบิน และวงรอบการนำเครื่องเข้าบำรุงรักษา เครื่องบินสนับสนุน หากต้องส่งเครื่องหลักเข้าซ่ิอมบำรุง ความพร้อมและประสบการณ์ของนักบิน ความชำนาญของช่างอากาศยาน เจ้าหน้าที่กู้ภัยพร้อมอุปกรณ์ ต้องมีระบบการทำงานที่ชัดเจนทุกฝ่าย และอุปกรณ์ต้องเป็นอุปกรณ์เฉพาะทาง สำหรับการทำงานทางอากาศโดยเฉพาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมาตรฐานความปลอดภัยกำกับอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติต้องทำตามขั้นตอนความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเช่นกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจและผ่านการฝึกซ้อมร่วมกันจนชำนาญ จึงจะสามารถเผชิญกับสถานการณ์จริง ที่ยากลำบากจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆได้ ไม่ใช่เพียงขอสนับสนุนอุปกรณ์ โดยให้เจ้าหน้าที่หน่วยอื่นนำไปปฏิบัติ หรือผู้ที่ไม่ผ่านการอบรมการกู้ภัยกับอากาศยานจะทำได้

การฝึกกู้ภัยในพื้นที่ป่าภูเขา Mountain Rescue

ในการเข้าช่วยเหลือทุกครั้ง ต้องประเมินความเสี่ยง ประเมินสรรพกำลัง และยุทโธปกรณ์ที่มี และวางแผนอย่างรัดกุม การค้นหาและช่วยชีวิตจะประสบความสำเร็จได้นั้น หมายถึงความสำเร็จในการช่วยผู้รอดชีวิตให้พ้นขีดอันตราย หากเริ่มทำได้ ต้องแข่งกับเวลา สภาพอากาศ ฯลฯ แต่หากมีอุปสรรคในการปฏิบัติอาจต้องรอเวลาที่เหมาะสม โดยยึดหลักป้องกันความสูญเสียเพิ่มเติม ลดการเกิดเหยื่อรายใหม่ อย่าเข้าใกล้อันตราย อย่าเสี่ยงทำในสิ่งที่ไม่รู้ ส่วนการเก็บกู้ผู้เสียชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ลดทอนความเร่งด่วนลงได้ และต้องคอยประเมินสถานการณ์ตามความเหมาะสม

ในวันที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือทางอากาศ ความเสี่ยงของการบินจึงมีสูง กำลังพลเดินเท้าเอง ก็ควรเตรียมพร้อมทั้งอุปกรณ์ยังชีพ มีดเดินป่าคุณภาพสูง อาหารและน้ำบางส่วน โดยอาจจะนำเครื่องกรองน้ำชนิดพกพา ไปแทนการแบกน้ำดื่มซึ่งมีน้ำหนักมาก และมีความรู้ในการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากสัตว์มีพิษ มีความรู้การดูแลบาดแผลจากพิษงู มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลภาคสนาม และอุปกรณ์อบอุ่นร่างกาย ซองวิทยุกันน้ำ

หน่วยกู้ภัยเดินเท้า ควรเตรียมอุปกรณ์เชือกกู้ภัยสำหรับป่า-ภูเขา ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ ซึ่งเข้าถึงที่เกิดเหตุ ควรมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพื่อเตรียมปฐมพยาบาลก่อนการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บไปด้วย เราเชื่อว่าบทเรียนจากความสูญเสียครั้งนี้ จะทำให้กองทัพทุกภาคส่วน ที่มีภารกิจในภูมิประเภทที่เป็นป่าเขา ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่ และเป็นชายแดนรอยต่อของประเทศ ต่างต้องเตรียมแผนการกู้ภัยให้พร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ทั้งจากภารกิจทางการทหาร หรือภารกิจร่วมในการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเข้าถึงที่เกิดเหตุ และช่วยเหลือทหารทุกชั้นยศ ที่ประสบอุบัติเหตุจากปัจจัยต่างๆให้ปลอดภัย ได้อย่างทันท่วงทีเท่าที่จะทำได้

เพราะเราสูญเสียนักบินและช่างเครื่องไปมากเกินพอ เราขาดผู้บังคับบัญชาที่เคารพรักไปหลายท่าน เราสูญเสียนายทหารที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้นำหน่วย ถึงแม้จะทุ่มเทงบประมาณมากมายเพียงไร ก็สายเกินกว่าจะเรียกชีวิตที่สูญไปกลับคืนมาได้ ในขณะที่การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ รวมทั้งการอบรมเพิ่มศักยภาพกำลังพล และจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม เป็นงบประมาณที่น้อยนิด เมื่อเทียบกับสิ่งที่สูญเสียไป และเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งต้องดำเนินการ

วันนี้หากกองทัพพร้อมเดินหน้า เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนทั้งอุปกรณ์, ผู้ชำนาญการ และสิ่งที่เรามี อย่างสุดความสามารถ แม้วันนี้ตะวันจะลับฟ้าไปแล้ว แต่เรายังรอที่จะห็นแสงในยามเช้า ช่วยส่องทางให้กองทัพก้าวต่อไป ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง ขอให้ดวงวิญญาณผู้เสียสละทุกท่าน สถิตย์อยู่ในสุขคติสัมปรายภพชั่วกาลนาน แม้ในครั้งนี้เราจะนำพวกท่านออกมาไม่ได้ อย่างมีลมหายใจ แต่เราจะทำทุกทาง ไม่ให้ความสูญเสียแบบนี้เกิดขึ้นอีก

Tags: , , ,

เบื้องหลังการกู้ภัยทางอากาศ ของทีมกู้ภัย บ.ตร.

ส่วนหนึ่งของภาพการทำงาน เบื้องหลังการกู้ภัยทางอากาศ ที่ยากจะหาชมได้จากสื่อต่างๆ วันนี้ Safe House ในฐานะผู้สนับสนุน ได้รับอนุญาติให้นำภาพเหล่านี้มาเผยแพร่ ซึ่งการทำงา่นกู้ภัยทางอากาศ เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญพิเศษ ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง และต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติ ให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งกำหนดเป็นมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นการนำส่งอุปกรณ์ และเครื่องมือพิเศษจากบนอากาศยานสู่พื้น, การนำส่งผู้บาดเจ็บ, การช่วยเหลือในเหตุอุทกภัย, อัคคีภัย, การจับกุมไล่ล่าผู้ร้าย ฯลฯ ไม่ใช่งานของผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะขอขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อขอมีส่วนร่วมหรือรับผิดชอบ กรณีเกิดข้อผิดพลาดหรืออุบัติเหตุต่างๆได้

ควรสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตรงเท่านั้น ได้มีโอกาสปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง จนเกิดความชำนาญ เพื่อนำมาสู่ความปลอดภัย ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย เพราะความอันตรายเกิดได้ในทุกขั้นตอน เนื่องจากปัจจัยของลม, น้ำ, ความชื้น, กำลังของเครื่องยนต์, อากาศกลศาสตร์ ฯลฯ ควรฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ ได้อบรมจนถึงขั้นชำนาญการ มีการสนับสนุนค่าเสี่ยงภัย และการบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างเป็นระบบ ซึ่งประเทศไทยยังต้องพัฒนา ให้ไปสู่เป้าหมายที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต

หากหน่วยงานใด ที่มีศักยภาพในการทำการกู้ภัยทางอากาศยาน มีความสนใจในอุปกรณ์และการฝึกอบรม บริษัท ซี แอร์ ไทย จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่วยอุปกรณ์กู้ภัยทางอากาศยาน และมีทีมงานผู้มีประสบการณ์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลก รวมถึงอุปกรณ์ที่ผ่านการรับรองความปลอดภัย ให้ใช้เป็นอุปกรณ์กู้ภัย ร่วมกับอากาศยานชนิดต่างๆ สามารถให้คำปรึกษา และจัดฝึกอบรมร่วมกับหน่วยงานของท่าน เพราะในยุคที่พิบัติภัย อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและไม่คาดคิด หากไม่มีการวางแผนเตรียมการป้องกันล่วงหน้า ความจำกัดในด้านกำลังพล, อุปกรณ์ และความเข้าใจในขั้นตอนที่ปลอดภัย อาจเป็นอุปสรรคให้ภารกิจล้มเหลว สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ซึ่งเราไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน

ผมขอขอบคุณผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพเหล่านี้ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ทั้งนักบิน, ช่างเทคนิคอากาศยาน, ทีมกู้ภัยจาก บ.ตร., ครูฝึกและตำรวจภูธรในพื้นที่ ,พี่นักบิน 1 และ 2 ที่น่ารักจากอุดรธานี, นักข่าวจากบางกอกโพสต์ รวมถึงชาวบ้าน และผู้สนับสนุนข้าวปลาและเสบียงอาหาร ไปจนถึงทุกท่าน ที่ผมไม่สามารถขอบคุณได้หมด ที่ทำให้ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องทุกท่าน จะช่วยกันสร้างผลงาน ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไปในอนาคตอันใกล้ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัย ให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย เมื่อเกิดภัยพิบัติทุกพื้นที่ครับ หลังจากน้ำลดแล้ว คงต้องทำการฟื้นฟูกันอีกมาก ทั้งทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนและของราชการ ที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน โดยเฉพาะหน่วยแพทย์จากองค์กรต่างๆ ที่ตอนนี้กำลังต่อสู้กับโรคภัย หลังน้ำลดกันอย่างไม่ลดละ

Tags: , , ,

นกเหล็ก บ.ตร. กับภารกิจกู้ภัยทางอากาศ

httpv://www.youtube.com/watch?v=IOw9tCmitgs

ผมนำภาพวีดีโอที่หาดูได้ยาก ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยกองบินตำรวจ ขณะปฏิบัติงานกู้ภัยทางอากาศ ช่วยชาวบ้านในจุดที่ความช่วยเหลือ อื่นใดเข้าไปไม่ถึง ณ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 6 เม.ย. 2554 ที่ผ่านมา ฝากให้ชื่นชม และเป็นกำลังใจ ให้ผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังทุกท่านครับ ขอบคุณภาพวีดีโอ จากนักข่าวบางกอกโพสต์

แหล่งที่มา : บางกอก โพสต์

Tags: , , ,

ทีมกู้ภัย บ.ตร.ส่งอาหารและน้ำ ถึงมือผู้ประสบภัยแล้ว!

เป็นหน้าที่และเกียรติภูมิ ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยและนักบิน กองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ใช้ “ม้าขาว” หรือเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย โดยมีอุปกรณ์นำส่งทางอากาศ ซึ่งสนับสนุนโดย บริษัท ซี แอร์ ไทย จำกัด ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ยังมีชาวบ้านตกสำรวจ และติดอยู่ในพื้นที่ที่ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยพาหนะอื่นๆอยู่อีกมาก

แม้ว่าความพยายามเข้าถึงพื้นที่ จะมีหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยแล้วก็ตาม แต่หลายครั้งที่ข้าวสุกและอาหาร ซึ่งถูกโยนลงไป ตกกระแทกกับน้ำและแตกกระจายอย่างไม่มีชิ้นดี หากมองไปให้ถึงชาวบ้าน ที่ต่างแหงนคอคอย จะเห็นน้ำตาพวกเขาไหลนองหน้า เพราะอาหารมื้อที่พวกเขารอ ไม่สามารถนำมารับประทานได้อีกเช่นเคย เป็นเรื่องน่าเศร้าและสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลายหน่วยงาน ที่มีเฮลิคอปเตอร์ ต่างต้องหันมาทบทวนว่า การช่วยเหลือได้เข้าถึงผู้เดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน และต้องแก้ไขการปฏิบัติกันอย่างไร

หนึ่งในหน่วยงานที่เข้าไปช่วยชาวบ้าน เห็นจะไม่พ้นกองบินตำรวจ ซึ่งในที่สุดเจ้าหน้าที่กู้ภัย ก็ทำสำเร็จ ด้วยการใช้เปลตะกร้า ซึ่งจัดหาไว้ใช้ในภารกิจกู้ภัยทางน้ำ แบบเดียวกับที่หน่วย US Coast Guard ใช้กับเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยในปัจจุบัน ได้ถูกนำมาใช้ในภารกิจครั้งนี้ ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะ UH-1 ทุกลำที่ทุกหน่วยงานมีอยู่ สามารถทำได้ โดยไม่ต้องอาศัยรอกกว้านราคาหลักสิบล้าน ร่วมกับประสบการณ์ที่ฝึกฝนมาอย่างดี ทำให้การนำอาหารคราวละมากๆ เข้าถึงชาวบ้านที่รอความช่วยเหลือ ได้อย่างไม่เสียหาย ปลอดภัย และประสบความสำเร็จ เรียกเสียงเฮ และคำขอบคุณล้นใจจากชาวบ้านผู้เดือดร้อน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกองบินตำรวจท่านหนึ่งกล่าวกับเราว่า “เชื่อมั๊ยว่า ผมทำไป ร้องไห้ไป เห็นแล้วสงสารชาวบ้าน พวกเขาหมดแล้ว ไม่เหลืออะไรเลย มันท่วมหมดเลย ขนาดวัด ยังมองเห็นแค่หลังคา เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ไป ก็ฮึดสู้กันแบบถวายหัว เรียกว่าเช้ายันตะวันตกดิน ไม่ได้หยุดพัก แต่ทั้งวันมันก็ไม่หิวนะ อยากกินแต่น้ำ ขนาดเครื่องที่เหลือชั่วโมงบิน ต้องเข้าซ่อมอีก 3 ชั่วโมง เราก็ยังบินกันจนสุดท้าย ต้องให้นักบินกลับ เอาเครื่องไปซ่อม พวกผมยังไม่รู้ว่าจะได้กลับวันไหน แต่ถ้าเราอยู่ ชาวบ้านเห็นพวกเราเขาก็มีกำลังใจ เขายกมือไหว้ขึ้นท่วมหัวเลยนะ พวกผมเหนื่อย แต่ก็มีความสุข เต็มใจสู้กันทุกคน”

น่าชื่นชม เจ้าหน้าที่และทีมงานผู้สู้ไม่ถอย ขอให้พวกท่าน มีกำลังกายและใจ ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน และปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ เราสัญญากันว่า เมื่อท่านกลับจากภารกิจ เราจะมาทบทวนและฝึกฝน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานกู้ภัย ให้เข้าถึงและช่วยชีวิตประชาชน ในเหตุการณ์วิกฤตต่อไปอย่างไม่ลดละ

ขอบคุณนักข่าวจากบางกอก โพสต์ ที่เก็บภาพการทำงาน ที่ยากจะมีใครเห็น แม้แต่เจ้าหน้าที่เอง ก็ต้องทุ่มเท จนหาโอกาสบันทึกภาพได้ยาก หากเรามีโอกาส จะรวบรวมผลงานของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ มาฝากให้ชมกันครับ

แหล่งข่าวและภาพ : http://www.bangkokpost.com/news/local/230321/recovery-begins-as-rains-ease

Tags: , , ,