ผมมีเรื่องราวของผ้าพันแผล (bandage) ซึ่งถูกใช้ปฐมพยาบาล และช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ และเป็นอุปกรณ์การแพทย์ขั้นพื้นฐาน ที่พบเห็นกันบ่อยและแสนจะธรรมดาที่สุด เท่าที่เราจะนึกได้ครับ แต่ผ้าพันแผลนั้นกลับมีเรื่องราว และการพัฒนามายาวนาน พอๆกับการกำเนิดของการแพทย์สมัยใหม่เลยทีเดียว
ผมคงจะไม่เล่าถึงประวัติความเป็นมาของมันในอดีตมากนัก แต่จะเล่าถึงประโยชน์ จากการใช้ผ้าพันแผลทั้งในอดีต และพัฒนาการของผ้าพันแผลยุคใหม่ ที่หลายท่านยังอาจจะยังไม่เคยทราบครับ
ช่วงก่อนจะเข้าสู่ยุคของการแพทย์สมัยใหม่ (ก่อนปี ค.ศ. 1865 หรือ ราว 150 ปีก่อน) ในการผ่าตัดแต่ละครั้ง ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อ มากกว่าความรุนแรงของบาดแผลเองเสียเป็นส่วนใหญ่ แพทย์ที่ทำการรักษา ก็มักจะให้ความสำคัญกับการลดการติดเชื้อ จากบาดแผลหลังการผ่าตัด เพราะยุคนั้นเรายังไม่มีค้นพบยาฆ่าเชื้ออย่างเพนิซิลินกันเลย บาดแผลติดเชื้อจึงเป็นปัญหาใหญ่ในการรักษา
ซึ่งต่อมาภายหลังจากการค้นพบยาฆ่าเชื้อ เพนิซิลินก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี ค.ศ.1944 หรือ พ.ศ.2487) ดังนั้นแพทย์สนามและเสนารักษ์ในสงคราม จึงมีความกังวลเรื่องการติดเชื้อในบาดแผลมากกว่าสิ่งอื่นใดครับ
จากจุดนี่เอง การดูแลผู้บาดเจ็บก่อนการนำส่งถึงโรงพยาบาล pre-hospital care จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญ ตั้งแต่นาทีที่เกิดเหตุ โดยผู้ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ (ก็คือผู้ที่อยู่รอบตัวผู้บาดเจ็บนั่นเอง ซึ่งไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล) จำเป็นต้องทำทุกวิธีทาง ในการช่วยชีวิตคนเจ็บให้รอดจากความตาย จนไปถึงมือหมอได้อย่างปลอดภัย ในสภาวะความกดดันต่างๆ
ในสมัยนั้นคู่มือการปฐมพยาบาล จึงไม่สอนให้เราใช้อุปกรณ์ใดๆกดลงบนบาดแผลโดยตรง เพื่อหยุดเลือดที่ไหลออกอย่างรุนแรงจากเส้นเลือดใหญ่ เนื่องจากกลัวการติดเชื้อ แต่จะสอนการห้ามเลือด โดยการกดจุดชีพจร และยกบาดแผลให้สูงกว่าหัวใจแทน
ซึ่งวิธีนี้มักจะได้ผลในช่วง 15 นาทีแรกเท่านั้น เพราะแรงกดจะเริ่มไม่สม่ำเสมอจากนิ้วที่ล้ากำลังลงของผู้ทำการช่วยเหลือ จากการกดไว้นานๆ หลังจากนั้นจึงมีการแนะนำให้ใช้ สายรัดห้ามเลือด(ทูนิเก้) ในการห้ามเลือดแทนการกดด้วยมือ เพราะสามารถใช้งานได้ผล และยาวนานกว่า หลังจากเลือดแข็งตัวและหยุดไหลแล้ว จึงใช้ผ้าพันแผลที่ผ่านการฆ่าเชื้อ มาปิดทับบนบาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่อไป
ผ้าพันแผลสำหรับใช้งานภาคสนามชนิดแรก จึงถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1904 (ปี พ.ศ.2447) ชื่อว่า คาไลน์ เดรสซิ่ง ตามชื่อค่ายทหารในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มันถูกผลิตจากผ้าก๊อซสีขาว เย็บติดกับผ้าฝ้ายแถบยาวสีเขียวมะกอก และบรรจุกล่องดีบุก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นบรรจุซองสีน้ำตาล(ปัจจุบันบรรจุซองสีน้ำตาล และใส่ซองพลาสติกใส) เพื่อใช้ปิดบนแผลไม่ให้แผล มีสิ่งสกปรกเข้าไป มันถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ซึ่งก็เกือบร้อยปีมาแล้วครับ) และในประเทศไทย มันยังคงเป็นผ้าพันแผล ที่มีแจกจ่ายให้ใช้ห้ามเลือด โดยไม่จำแนกความรุนแรงของบาดแผล และมีใช้แพร่หลายทุกเหล่าทัพเลยทีเดียว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้ห้ามเลือด ในบาดแผลฉกรรจ์ เช่น บาดแผลถูกยิง, บาดแผลระเบิด ฯ ที่เลือดออกอย่างรุนแรงได้เลย เพราะมันถูกออกแบบมาให้ใช้ปิด เพื่อป้องกันไม่ให้แผลสกปรก หรือขยายกว้างขึ้นเท่านั้น
ภายหลังจากที่มีการใช้ยาฆ่าเชื้อ สำหรับป้องกันการติดเชื้อบนบาดแผลได้สำเร็จ ก็ได้มีการนำมาตร การป้องกันการเสียเลือดอย่างรุนแรง มาใช้กับบาดแผลโดยตรง เพราะแพทย์และเสนารักษ์ในสนาม ไม่มีความกังวลว่าจะทำให้คนไข้เสียชีวิต เพราะแผลติดเชื้อเหมือนในอดีตอีกแล้ว การใช้ผ้าก๊อซกดลงโดยตรง ในจุดที่เลือดออกบนบาดแผล จึงเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในการหยุดเลือด ผ้าก๊อซที่มีเส้นใยถักทอผสานกันอย่างแน่นหนานั้น ออกแบบเพื่อช่วยให้เกล็ดเลือด เกาะยึดเป็นผนัง และแข็งตัวทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น
แต่ถ้าเป็นบาดแผลที่เลือดออกรุนแรง แพทย์สนามจะใช้วิธีการอัดผ้าก๊อซลงไปในบาดแผล (wound packing) แทนที่จะปิดหรือโปะไว้แต่เพียงปากแผล เพราะตำแหน่งของเส้นเลือดใหญ่นั้น จะอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนังในบาดแผล ดังนั้นการอัดผ้าก๊อซลงในบาดแผลให้แน่น จะเป็นการสร้างแรงกดบนรอยแตกที่เส้นเลือดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ในโรงพยาบาลเมื่อ 50 ปีก่อน ห้ามทำโดยเด็ดขาด เพราะไม่ต้องการให้คนไข้ เสียชีวิตจากการที่บาดแผลติดเชื้อ
แต่อย่างที่กล่าวมาในตอนต้นครับว่า ปัจุบันวิทยาการของยารักษาอาการติดเชื้อ และยาฆ่าเชื้อได้พัฒนาไปมากกว่าแค่เพนิซิลินแล้ว ดังนั้นเมื่อมียาฆ่าเชื้อที่ใช้ได้ผล ผ้าพันแผลสำหรับงานภาคสนาม โดยเฉพาะในงานเชิงยุทธวิธีนั้น จึงพัฒนาตามไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงขั้นตอนการใช้งานด้วยเช่นกัน ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว บาดแผลในสนามรบ ก็ไม่ใช่แผลที่สะอาดตั้งแต่ต้น และก็เป็นการยากที่จะทำให้แผลไม่สกปรกได้ ซึ่งบาดแผลเปิดเหล่านี้ จนแล้วจนรอดก็ต้องได้รับการฆ่าเชื้อ เมื่อนำผู้บาดเจ็บส่งถึงโรงพยาบาล อันเป็นขั้นตอนปกติที่ปฏิบัติกันอยู่แล้ว
ราวๆช่วงปี ค.ศ.1990 จึงได้มีการคิดค้น ผ้าพันแผลสำหรับแพทย์สนาม โดยใช้ชื่อว่า “Israeli Bandage” (อิสราเอลลี่ แบนเดจ) ผ้าพันแผลนี้มีการติดแท่งพลาสติกเสริมแรงกด (pressure bar) เพื่อเพิ่มแรงในการกดลงบนบาดแผล พร้อมผ้ายืดพันแผล ช่วยในการหยุดเลือดให้ดียิ่งขึ้น ผ้าพันแผลอิสราเอลลี่ แบนเดจนั้น ใช้งานได้ดีในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาก็คือ มันใช้ได้ผลแค่เพียงบาดแผลที่ไม่ลึกนัก และในแผลที่เส้นเลือดใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะแท่งเสริมแรงกดที่เพิ่มขึ้นมานั้น ไม่สามารถสร้างแรงกดได้เพียงพอ ที่จะหยุดเลือดจากเส้นเลือดใหญ่ในแผลฉกรรจ์ได้ ดังนั้นหากเป็นบาดแผลจากการสงคราม เช่น แผลถูกแทง, ถูกยิง หรือบาดแผลจากสะเก็ดระเบิด เราก็ยังต้องใช้ผ้าก๊อซ อัดลงในบาดแผล หรือวิธีการ Wound Packing ร่วมไปกับอิสราเอลลี่ แบนเดจ พร้อมกันทั้งสองอย่างอยู่ดี เพราะอิสราเอลลี่ แบนเดจ มีเพียงก็อซเพื่อปิดเพียงบนปากแผล แต่หากเป็นแผลลึก อิสราเอลลี่ แบนเดจ ก็จะมีประโยชน์ไม่ต่างจากผ้าพันแผลคาไลน์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำได้เพียง ปิดป้องกันสิ่งสกปรกเข้าสู่บาดแผลเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ หลังจากพบข้อด้อยของอิสราเอลลี่ แบนเดจที่ใช้กันมากว่า 20 ปี จึงมีการพัฒนาผ้าพันแผล จนมาถึงยุคของผ้าพันแผลสมัยใหม่อย่าง โอลด์ แบนเดจ (Olaes Bandage) ที่นำเอาข้อดีของอิสราเอลลี่ แบนเดจ และผ้าก๊อซเข้าไว้รวมกันในชิ้นเดียว โอลด์ แบนเดจ สามารถใช้กับบาดแผลทั่วๆไป หรือบาดแผลฉกรรจ์ได้ เพราะผ้าปิดแผลจะช่วยป้องกันบาดแผลจากสิ่งสกปรก และสำหรับบาดแผลที่ลึกลงไป ก็สามารถดึงก๊อซที่อยู่ด้านในห่อผ้าปิดแผล ออกมาอัดลงในบาดแผล โดยวิธี Wound Packing ได้ทันที เพื่อช่วยห้ามเลือด ก่อนที่จะพันรอบบาดแผลด้วยผ้ายืด ทับไปโดยรอบให้แน่นอีกทีหนึ่ง
ผ้าพันแผลโอลด์ แบนเดจ ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหา และปิดข้อด้อยของอิสราเอลลี่ แบนเดจได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังออกแบบให้พันได้ด้วยมือข้างเดียว มีระบบป้องกันผ้ายืดคลายตัว, มีพลาสติกเสริมแรงกด, พร้อมแผ่นไซโลเฟน คล้ายพลาสติกใส ใช้ปิดแผลถูกยิงช่วงอก และยังลดพื้นที่การจัดเก็บ ในกระเป๋าปฐมพยาบาลประจำบุคคล ลงด้วยการบรรจุซองสูญญากาศอีกด้วย
ช่วยลดเวลาในการดูแลผู้บาดเจ็บ และลดขั้นตอนการปฐมพยาบาลลง ให้เหมาะสมกับการใช้ห้ามเลือด ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด เพื่อช่วยผู้บาดเจ็บที่กำลังเสียเลือดอย่างรุนแรง และเสี่ยงต่อการรอดชีวิตได้ทันท่วงที
กล่าวถึงชื่อแปลกๆของโอลด์ แบนเดจ กันสักนิดครับ Olaes Bandage ผู้คิดค้นมันขึ้นมาคือ รอส จอห์นสัน เขาตั้งชื่อผ้าพันแผลนี้ จากชื่อเพื่อนรักของเขาคือ จ่าโทนี่ บี โอลด์ (Staff Sgt. Tony B. Olaes) จ่าโอลด์เป็นเสนารักษ์ประจำกรมรบพิเศษที่ 3 ของกองทัพบกสหรัฐฯ เช่นเดียวกับรอส แต่เขากลับต้องมาเสียชีวิตเมื่ออายุได้เพียง 30 ปี จากการถูกซุ่มโจมตีของตาลีบัน ระหว่างลาดตระเวนในจังหวัดปาติก้า ประเทศอัฟกันนิสถาน เดือนกันยายนปี 2004 โดยรอสได้นำเอานามสกุลของเพื่อนรัก มาตั้งเป็นเกียรติและเป็นความทรงจำที่ดีตลอดไปนั่นเองครับ
ต้องยอมรับว่า เรื่องราวของผ้าพันแผลที่ถูกพัฒนาขึ้นนั้น มาจากการเสียเลือดเนื้อและชีวิต ของทหารทุกเชื้อชาติในยามศึกสงคราม หากไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้น การพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ภาคสนามในปัจจุบัน ซึ่งเป็นศาสตร์ที่แตกต่างจากการช่วยชีวิตในโรงพยาบาล ก็คงไม่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และเป็นประโยชน์กับผู้อยู่เบื้องหลัง อย่างผมและทุกท่านเช่นในวันนี้
สนใจเรื่องราวของผ้าพันแผล Olaes Bandage สามารถติดต่อตัวแทนจำหน่ายได้โดยตรงที่ Safe House และสำหรับหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน เรายินดีเป็นอย่างยิ่งในการตอบคำถาม และข้อสงสัยในอุปกรณ์การช่วยชีวิตภาคสนามครับ