fbpx

Archive for category Tactical Medicine

ผ้าอนามัย กับความเข้าใจผิดในการห้ามเลือด

บ่อยครั้งที่มีการพูดคุย ถึงเรื่องการปฐมพยาบาลห้ามเลือดภาคสนาม สิ่งที่เราจะได้ยินคนพูดถึงเสมอ คือ การใช้ผ้าอนามัยห้ามเลือดแทนผ้าก๊อซ ซึ่งเป็นการหาอุปกรณ์ใกล้ตัว ทดแทนอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ควรจะมี จนกลายเป็นความเข้าใจ ในการห้ามเลือดที่ผิดพลาด เนื่องจากใช้อุปกรณ์ผิดประเภท เพราะผ้าอนามัยและผ้าก๊อซนั้น ออกแบบมาเพื่อการใช้งานต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผ้าก๊อซ (Gauze) ถูกออกแบบเพื่อหยุดการไหลของเลือด โดยมี 2 คุณสมบัติ คือ

  1. ก๊อซ มีใยผ้าประสานกัน เป็นพื้นผิวสัมผัสแบบโครงข่าย ทำหน้าที่ช่วยให้เกล็ดเลือด (Platelets) ได้ยึดเกาะ ทำให้เลือดแข็งตัว (Clot) ได้ง่าย
  2. ช่วยเพิ่มแรงกดไปที่บาดแผล ทำให้เลือดนั้นไหลช้าลง ช่วยให้เกล็ดเลือดแข็งตัว ขึ้นปิดบาดแผลได้เร็วขึ้น

ส่วนผ้าอนามัย (Sanitary Pad) นั้น มีคุณสมบัติแตกต่างจากผ้าก๊อซโดยสิ้นเชิง เพราะถูกออกแบบให้ดูดซับ เอาเลือดส่วนเกินออกจากร่างกาย ไปเก็บไว้ภายในแผ่นดูดซับ เพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกแห้งสบาย อันเป็นสิ่งที่คุณสมบัติการห้ามเลือดไม่ต้องการ เนื่องจากผ้าอนามัยนั้น มีจุดมุ่งหมายเดียว คือการทำให้ผิวสัมผัสด้านบนแห้ง ไม่เลอะเทอะ มันจึงไม่สามารถทำให้เกล็ดเลือด แข็งตัวกันบนบาดแผลได้ง่าย แต่กลับไปแข็งตัวอยู่ในแผ่นเจลดูดซับแทน ซึ่งหากเป็นบาดแผลเล็กน้อยจากเส้นเลือดฝอยก็ไม่เท่าไหร่

แต่ในกรณีเส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด หรือแผลฉกรรจ์ หากใช้ผ้าอนามัยซับเลือดแล้ว ผู้บาดเจ็บจะยังคงเสียอยู่ และซ้ำร้ายกว่านั้น ยิ่งจะเป็นการเร่งให้เลือด ถูกดูดออกจากบาดแผลมากขึ้นเสียอีก

ดังนั้นผู้ใช้จึงควรทำความเข้าใจว่า อุปกรณ์การแพทย์ชนิดต่างๆนั้น ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ และควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะผ้าอนามัยนั้น เหมาะที่จะพกพาไว้ในกระเป๋าสุภาพสตรี และควรนำผ้าก็อซที่มีเส้นใยคุณภาพดี หรือผ้าก็อซผสมสารห้ามเลือด Combat Gauze มาใช้กับบาดแผลในสนามรบจะเหมาะสมกว่า

หากคุณสงสัยว่า ยังมีสิ่งใดที่ควรทำ และไม่ควรทำ ในการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากการรบ หรือบาดแผลจากอาวุธปืน Safe House เปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรม การปฐมพยาบาลบาดแผลที่เกิดจากอาวุธปืน ให้กับผู้ที่สนใจ โดยวิทยากร Tactical Medic โดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากความรู้ในชั้นเรียนแล้ว ผู้เข้าอบรมจะได้รับอุปกรณ์ปฐมพยาบาลภาคสนาม ที่ทันสมัยและได้รับการยอมรับ ในหน่วยงานชั้นนำระดับโลกอีกด้วย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้แล้ววันนี้ครับ

Tags: , ,

Care Under Fire รักษาผู้บาดเจ็บในระหว่างปะทะ อย่างไร

หนทางรอดชีวิตที่ดีที่สุดในสนามรบ คือ กำจัดศัตรูก่อนที่จะมีการบาดเจ็บสูญเสีย

ในบทความที่แล้ว เราพูดถึงผ้าพันแผลผสมสารห้ามเลือด Combat Gauze ว่าเป็นอุปกรณ์ห้ามเลือดภาคสนามที่มีประสิทธิภาพสูง พิสูจน์แล้วทั้งในห้องปฏิบัติการณ์ และในสนามรบจริง โดยกองทัพสหรัฐฯได้จัดให้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคล ให้กับทหารราบใช้ประจำตัวในสนามรบ สำหรับกรณีการบาดเจ็บและเสียเลือดอย่างรุนแรง แล้วถ้ามันดีที่สุดจริงๆในการห้ามเลือด ทำไมเรายังเห็นทหารใช้ทูนิเก้กันอยู่ล่ะ?

จากประสบการณ์ในการรบของกองทัพสหรัฐที่โซมาเลีย ได้เปลี่ยนหลักคิดและการปฏิบัติ เรื่องการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในสนามรบ โดยนำบทเรียนการรบชั่วระยะเวลาการปะทะแค่ 15 ชม. ที่ทำให้เสียกำลังพลไปถึง 19 นาย บาดเจ็บอีก 84 นาย ซึ่งในจำนวนนั้น เป็นหน่วยรบพิเศษจากชุด Delta force อีก 6 นาย มาเป็นการดูแลผู้ป่วยในสนามรบ (Tactical Combat Casualty Care – TCCC) โดยแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ

  • การดูแลในระหว่างการปะทะ Care Under Fire
  • การดูแลผู้บาดเจ็บก่อนนำส่้ง Tactical Field Care
  • การเคลื่อนย้ายและนำส่งผู้บาดเจ็บ Tactical Evacuation (TacEvac / CasEvac / MedEvac)

เมื่อวิเคราะห์จากเหตุการณ์ในอดีต นักวิจัยพบว่าทั้ง 3 ขั้นตอนนั้น มีสถานการณ์และการรักษาผู้บาดเจ็บ ที่ไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง

ในหลักการรักษาของทีมกู้ชีพ (EMS) สิ่งแรกที่ต้องทำคือการทำให้แน่ใจว่า ที่เกิดเหตุนั้นปลอดภัยแล้ว ก่อนการเข้าช่วยเหลือที่บาดเจ็บ แต่ในการรบนั้น เราไม่มีทางเลือก การรักษาจำเป็นต้องเกิดขึ้นแม้ขณะที่เกิดการยิงปะทะกันอยู่ เพราะไม่สามารถรอได้ ดังนั้นการรักษาพยาบาลในแบบปกติของทีมกู้ชีพ หรือในโรงพยาบาล จึงไม่สามารถทำได้เลยในสนามรบ เพราะหากใช้หลักการเดียวกัน ผู้ที่บาดเจ็บอาจจะถูกยิงซ้ำ หรือโชคร้ายก็เป็นทีมแพทย์เอง ที่อาจได้รับบาดเจ็บอีกด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโซมาเลีย เพราะแพทย์สนามที่จบการรักษาแบบเดียวกับที่สอนในทีมกู้ชีพ (EMS) นั้นถูกยิงตาย ในขณะที่กำลังช่วยเหลือเพื่อนทหารของเขาอยู่

จุดเกิดเหตุในสนามรบ ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมในการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ

แล้วอุปกรณ์ห้ามเลือดมีความสำคัญอย่างไร? นักวิจัยพบว่า วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาชีวิตทหารในสภาวการณ์รบ คือ การยิงฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นสภาพเสียก่อน ยิ่งจัดการฝ่ายตรงข้ามได้เร็วเท่าไหร่ พวกเราก็ยิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้นเท่านั้น ทหารที่ถูกยิงจำต้องใช้ทูนิเก้รัดห้ามเลือด หรือชะลอการเสียเลือดให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อทำให้เขากลับมาทำการตอบโต้ด้วยอาวุธของเขาได้ เพราะหากต้องใช้แพทย์สนามในทีม 1 คน มารักษาคนที่ถูกยิง นั่นหมายความว่า เราเสียกำลังในการยิงไปถึง 2 นาย หากต้องใช้เวลา 5 นาที ในการที่แพทย์สนามต้องกดหยุดเลือดด้วยผ้าพันแผลผสมสารห้ามเลือด นั้นหมายความว่า ในระหว่าง 5 นาทีนั้น ทหารสองคนนั้นไม่สามารถทำการตอบโต้ได้ ซึ่งมันเป็นการเสี่ยงเกินไป ในสนามรบที่อาจเกิดการสูญเสียเพิ่มเติม เพราะอำนาจการยิงที่ไม่เพียงพอ

ในปัจจุบัน มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติ ในการดูแลผู้บาดเจ็บในสนามรบ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์ทางทหารอยู่ 2 ประเภท คือ 1. ปืนไรเฟิลประจำตัวทหาร เพราะหน้าที่หลักของทหาร คือการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามให้หมดในเวลาที่จำกัด 2.สายรัดห้ามเลือด (ทูนิเก้) เพราะเมื่อหลังจากเราถูกยิงเข้าแล้ว ทหารทุกนายจำเป็นต้องรักษาอาการเสียเลือด จากบาดแผลของตนเองให้เร็วที่สุด ซึ่งอุปกรณ์ที่เร็วที่สุดในการใช้งาน ก็คือ ทูนิเก้ เมื่อรัดแล้วเลือดจะแทบหยุดในทันที แล้วกลับไปยิงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามต่อ จนกว่าจะหมดภัยคุกคาม และเมื่อทุกอย่างปลอดภัยแล้ว แพทย์สนามจึงจะเข้ามาจัดการ รักษาบาดแผลและนำส่งต่อไป เมื่อการปะทะจบลง การรักษาทางยุทธวิธี จึงจะเริ่มขึ้น

การดูแลผู้บาดเจ็บในสนามรบในขั้นนี้นั้น อาจจะดูเหมือนที่ EMS ทำ แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างกันอยู่ โดยมุ่งการรักษาไปที่บาดแผล ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต มากกว่าจะเป็นขั้นตอนที่ใช้กันในการรักษาพยาบาลในสภาวะปกติ เพราะเจ้าหน้าที่แพทย์สนาม มีหน้าที่แบกปืนสู้กับข้าศึก และรักษาพยาบาลในเวลาเดียวกัน ต้องทำงานแข่งกับเวลา ในทุกๆนาทีที่เสียไปหมายถึง เปอร์เซ็นต์การรอดตายของผู้บาดเจ็บที่ต่ำลง และความเสี่ยงต่อการถูกข้าศึกโจมตีซ้ำอีก ซึ่งหมายถึงการละทิ้งคนเจ็บกลับไปต่อสู้อีกครั้ง

เราจะพูดถึงเรื่องของ TCCC อีกครั้ง ในตอนหน้าครับ ติดตามอ่านต่อนะครับ ในหัวข้อ “สิ่งที่ต้องทำในกระบวนการ TCCC”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่  Safe house.

Tags: , , ,

สารห้ามเลือด อีกหนึ่งทางรอดของผู้บาดเจ็บ

เราได้พูดถึงความสำคัญของการใช้สายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ และบทเรียนอันแสนแพงของกองทัพสหรัฐฯ  ต่อพัฒนาการของทูนิเก้กันมาแล้ว ตอนนี้ปัญหาก็คือ แม้ว่าเรามีทูนิเก้ที่มีประสิทธิภาพและเรียนรู้ที่จะใช้มันแล้ว แต่หากสายรัดห้ามเลือดช่วยได้เพียง ชะลอการไหลของเลือดจากหัวใจไปยังบริเวณบาดแผล แต่หากเลือดยังคงไม่หยุดไหล ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอในการบาดเจ็บจากพื้นที่การรบ แล้วเราจะทำอย่างไร

ความยากในการห้ามเลือดจากเส้นเลือดแดง (Arterial) ซึ่งมีแรงดันสูงจากหัวใจโดยตรง มันมีสีแดงสดเพราะอุดมด้วยอ็อกซิเจน เพื่อไปหล่อเลี้ยงเซลส์ และมันไหลแรงเป็นจังหวะตามการเต้นของหัวใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะบังคับให้มันหยุดสนิทได้ และถ้าเหตุการเช่นนี้เกิดขึ้น ก็หมายความว่า แม้ว่าความแรงดันเลือดจากบาดแผลจะน้อยลง แต่ผู้บาดเจ็บยังคงเสียเลือดอย่างต่อเนื่องต่อไปอย่างช้าๆ

ตัวอย่างสารห้ามเลือด QuikClot Combat Gauze, ACS Sponge, Original QuikClot Powder, WoundStat และ Celox

แรงกดจากทูนิเก้นั้น ทำงานโดยอาศัยแนวคิดว่า ยิ่งแถบที่กดลงนั้นกว้างมากเท่าไหร่ แรงกดที่กระทำต่อเส้นเลือดก็ยิ่งลดลงเท่านั้น ซึ่งนั่นก็เป็นอีกสาเหตุว่า ทำไมสายยางกลมๆเส้นเล็กๆ ถึงไม่สามารถหยุดเลือดที่ไหลจากเส้นเลือดใหญ่ได้ วิธีง่ายๆที่ใช้กันในกรณีที่ทูนิเก้อันแรกไม่ได้ผล ก็คือการใช้ทูนิเก้อันที่สองลงไปเหนืออันแรก เพื่อช่วยเพิ่มความกว้างของทูนิเก้ ซึ่งทำให้ได้แรงกดที่เพิ่มมากขึ้น เลือดก็จะหยุดง่ายขึ้น

จากเหตุผลและความเสี่ยงที่เลือกอาจไม่หยุดสนิทในคราวเดียวนี่เอง ทำให้กองทัพบกสหรัฐฯแนะนำให้ทหาร มีทูนิเก้อยู่ในชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคล คนละ 2 อัน เพื่อใช้ในสถานการณ์เลวร้ายที่เส้นเลือดใหญ่บริเวณขา (Femoral) ถูกตัดขาด ซึ่งเส้นเลือดที่มีขนาดราวๆนิ้วของเรานั้น หากจะหยุดเลือดให้ได้ผลเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากแรงดันที่สูงและกล้ามเนื้อต้นขา ก็เป็นจุดที่ต้องใช้แรงกดมาก หรือในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลฉกรรณ์ มากกว่าหนึ่งจุด อาจต้องใช้ทูนิเก้มากกว่าหนึ่งอันร่วมด้วย เรียกได้ว่ากันไว้ดีกว่าแก้ เพราะหากแก้ไม่ทัน นั่นหมายถึงชีวิตของทหารที่เราต้องเสียไปเพราะไม่ได้เตรียมการ

คิดต่อไปอีกว่า บาดแผลจากการรบอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย ซึ่งบาดแผลนั้นๆอาจจะไม่สามารถใช้สายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ได้ เช่น บาดแผลบริเวณลำตัว, บริเวณหัวไหล่, โคนขา หรือ บริเวณศรีษะ แล้วจะทำอย่างไร กองทัพสหรัฐได้เริ่มประสบปัญหากับบาดแผลเหล่านี้ เมื่อครั้งปฏิบัติการณ์ โกธิค เซอร์เพ็นท์ ที่ประเทศโซมาเลีย ในปี 1993 (Gothic Serpent,Somalia 1993) เรื่องราวดังกล่าว ถูกนำมาถ่ายทอดในภาพยนต์เรื่อง “Black Hawk Down” ในฉากที่ทหารหน่วยจู่โจมรายหนึ่ง บาดเจ็บจากกระสุนปืนของฝ่ายตรงข้าม กระสุนนั้นตัดทำลายเส้นเลือดใหญ่บริเวณต้นขาสูงขึ้นไปทางเชิงกราน ในกรณีนี้ทูนิเก้ไม่สามารถใช้งานได้เลย แพทย์สนามในภาพยนตร์ได้พยายามใช้แคลมหนีบเส้นเลือดจากต้นขา (Femoral) ของผู้บาดเจ็บ ซึ่งต้องควงเข้าไปในเนื้อขา เพื่อหาเส้นเลือดให้เจอ ในความจริงผู้ทำการห้ามเลือดให้ผู้บาดเจ็บ คือเสนารักษ์ของหน่วยรบพิเศษ 18D ซึ่งการทำเช่นนี้ในชีวิตจริงได้ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการแพทย์ ที่มีอุปกรณ์และได้รับการฝึกมาอย่างชำนาญ แต่ทหารข้างกายผู้บาดเจ็บเกือบ 100% ที่อาจจะต้องช่วยชีวิตเพื่อนร่วมรบ หรือแม้กระทั่งหัวหน้าหน่วยของเขาเอง มักจะไม่มีทั้งความรู้ทางการแพทย์และเครื่องมือแบบในหนัง แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้บาดเจ็บต้องช็อคตายไปต่อหน้าต่อตา…

สายรัดห้ามเลือด 2 เส้น ถูกใช้งานร่วมกัน เพื่อหยุดเลือดที่ไหลอย่างรุนแรง

ในกรณีเช่นนี้ สารห้ามเลือด Hemostatic Agents หรือสะกด Haemostatic Agent นั้น ถูกนำมาใช้เพื่อเร่งกระบวนการการแข็งตัวของเลือด ในบริเวณที่ไม่สามารถใช้สายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ได้ หรือกรณีที่การกดลงบนบาดแผลใช้ไม่ได้ผล สารห้ามเลือดยุคใหม่ที่ถูกนำมาใช้และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ QuickClot ซึ่งเป็นทั้งชื่อยี่ห้อและชื่อสินค้าในคราวเดียวกัน

QuickClot ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1984 หลังจากนั้น ได้มีการออกแบบสารช่วยห้ามเลือดอื่นๆตามมาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ Hemcon, Celox, WoundStat ฯ และก็เหมือนกับกรณีสายรัดห้ามเลือดเช่นกัน ที่ได้มีการทดลองทดสอบมากมายเพื่อหาว่า สารห้ามเลือดตัวใดจะเหมาะสมที่สุดในการใช้ปฐมพยาบาลในพื้นที่การรบ สำหรับ QuickClot รุ่นเก่านั้น มีปัญหาคือ มันเป็นสารออกฤทธ์ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งส่งผลข้างเคียงคือการไหม้ของเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผล เกิดจากปฏิกริยาของสารห้ามเลือดกับของเหลวที่สัมผัส

ส่วนการศึกษาพบว่าสารห้ามเลือดที่มีสารตั้งต้นเป็นไคโตซาน อย่าง Hemcon, Chitoflex และ Celox รวมถึง Seashell ของโรงงานเภสัชกรรมทหารของบ้านเรานั้น ให้ผลการห้ามเลือดที่ดีมาก แต่ทว่าิ สารไคโตซาน ซึ่งผลิตจากเปลือกหอย,กุ้ง,ปูนั้น ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงในผู้บาดเจ็บบางราย ที่มีอาการแพ้อาหารทะเล ส่วน WoundStat นั้น ห้ามเลือดได้ดีเกินไป จนเกิดผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ภาพการใช้งาน Combat Gauze ในการทดสอบ ห้ามเลือดจากโคนขาหนีบ

ในปัจจุบันสารห้ามเลือด หรือ Hemostatic Agent ที่ดีที่สุดในสนามรบก็คือ QuickClot  Combat Gauze ซึ่งถูกพัฒนาต่อมาจาก QuickClot เดิม โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแสบร้อน หรือรอยไหม้ของเนื้อเยื่อบนบาดแผลอีกแล้ว เนื่องจากการใช้สารห้ามเลือด จะต้องใช้ร่วมกับการใช้ผ้าก็อซกดลงบนบาดแผลอยู่แล้ว และสำหรับ QuickClot  Combat Gauze ได้รวมเอาสารห้ามเลือดเคลือบอยู่บนผ้าก๊อซพันแผล ไม่ใช่แบบผงเหมือนเก่า จึงใช้งานได้ง่ายกว่าสารห้ามเลือดแบบอื่นๆ ที่ต้องเทลงบนแผล

Combat Gauze นั้นเป็นผ้าพันแผลในตัว จึงช่วยลดขั้นตอนต่างๆ และใช้งานได้สะดวกและรวดเร็วกว่า การใช้งานก็ง่ายเช่นเดียวกับการใช้ผ้าก็อซ  จึงทำให้ QuickClot Combat Gauze เป็นสารห้ามเลือดเพียงชนิดเดียว ที่ได้รับการแนะนำจาก คณะกรรมาธิการแพทย์ฉุกเฉินทางยุทธวิธีแห่งสหรัฐอเมริกา (COTCCC) และเป็นสารห้ามเลือดชนิดเดียวในปัจจุบัน ที่กองทัพบกสหรัฐฯอนุมัติให้ใช้ในการรักษาทหารที่บาดเจ็บในการรบ เพราะใช้งานได้ง่าย เพียงฉีกซองแล้วกดลงบนแผลเพียง 5 นาทีหรือจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ซึ่งจากการทดสอบนั้น Combat Gauze มีประสิทธิภาพสูงในการห้ามเลือด โดยสามารถหยุดการเสียเลือดรุนแรง จากการตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ขา Femoral ซึ่งเป็นจุดที่ใช้อุปกรณ์อื่นๆแทบไม่ได้เลยในงานภาคสนาม

วิวัฒนาการในการรักษาผู้บาดเจ็บจากการรบ ยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ แม้ว่าปัจจุบันการแพทย์เชิงยุทธวิธีจะรุดหน้าไปมากแล้ว แต่การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในสนามรบ ก็ยังมีเรื่องใหม่ๆมาให้ศึกษา และพัฒนาอุปกรณ์ช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ ให้ก้าวทันต่อการบาดเจ็บที่เกิดจากอาวุธและสงครามอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าสารห้ามเลือดมีราคาสูง แต่หากต้องใช้งาน นั้นหมายถึง การให้โอกาสรอดของชีวิตคนหนึ่งคน ที่กำลังอยู่ในภาวะเป็นตายเท่ากัน

ทีมงานและผู้เชี่ยวชาญของเรา มีประสบการณ์จัดอบรมการช่วยชีวิตในสภาวการณ์รบ ให้กับหลายหน่วยงานในประเทศไทย ติดต่อสอบถาม โดยส่งรายละเอียดผู้ติดต่อและหน่วยงาน มาได้ที่  Safe house ยินดีให้คำปรึกษาครับ

Tags: , , , , ,

สายรัดห้ามเลือด บทเรียนจากความตาย

หนึ่งในสายรัดห้ามเลือด ที่ไม่มีประสิทธิภาพ

จุดเปลี่ยนที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ หันกลับมาทบทวนข้อผิดพลาด และแก้ไขปรับปรุงรูปแบบและขั้นตอนการช่วยชีวิตทหารในสนามรบให้รอดตาย คือเมื่อครั้งที่ทหารอเมริกันเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ ในสงครามโซมาเลีย ทวีปแอฟริกา ช่วงปี 1993 การบาดเจ็บจากการถูกระเบิดแสวงเครื่อง และอาวุธร้ายแรงในระยะประชิด ดังที่เราได้เห็นกันในภาพยนต์ สงครามในโซมาเลียนั้น แตกต่างจากสงครามอื่นๆอย่างมากมายนัก การรบกันบ้านต่อบ้าน ประตูต่อประตู เป็นการรบที่โหดร้ายทารุณและกดดันเป็นอย่างยิ่ง

การรักษาพยาบาลด้วยวิธีการตามรูปแบบการปฐมพยาบาลในภาวะปกตินั้น ไม่สามารถช่วยให้ทหารรอดชีวิตในสภาวะการรบนอกแบบเช่นนี้ ดังนั้นคณะกรรมการการแพทย์ทหารได้ถูกจัดตั้งขึ้น หลังจากทนต่อความสูญเสียชีวิตทหารในขณะปฎิบัติการเป็นจำนวนมากเกินรับได้ ซึ่งเป็นการจัดตั้งชุดผู้ที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ทางทหารจากหน่วยต่างๆ เพื่อค้นหาหนทางรักษาชีวิตทหารในสงครามยุคใหม่ และได้รายงานทางการแพทย์ออกมาในปี 2003 ก่อนหน้าที่ทหารอเมริกันจะถูกส่งเข้าสู่สงครามอิรัคได้เพียง 1 เดือน

ในรายงานระบุว่ากองทัพควรจัดสรรสายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ ให้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคล สำหรับทหารทุกนาย แต่โชคร้ายที่การเตรียมการดังกล่าวสายเกินไป ในขณะที่ทหารอีกมากมายต้องเดินเข้าสู่สงครามโดยปราศจากอุปกรณ์ห้ามเลือดที่ พวกเขาควรจะมี บางคนต้องแสวงเครื่องเพื่อทำสายรัดห้ามเลือดในนาทีวิกฤต ซึ่งหลายกรณีที่ไม่สามารถห้ามเลือดและหยุดการตายจากเหตุเสียไหลอย่างรุนแรงได้ และอีกหลายรายได้ต้องเสียชีวิตเพราะห้ามเลือดไม่ทันนั่นเอง
จนในที่สุดกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ออกคุณลักษณะสายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ สำหรับใช้ในสภาวะการรบ โดยกำหนดจากน้ำหนัก, ขนาด และราคา โดยที่ทูนิเก้รุ่นแรกที่ออกมานี้ ไม่เคยได้รับการทดสอบอย่างเพียงพอ ต่อการใช้งานจริง ด้วยความต้องการให้ทหารทุกคนนั้นมีใช้อย่างเร่งด่วน ผลลัพท์ คือยังเกิดความล้มเหลวในการรักษาชีวิตทหารอยู่ดี  เพราะถึงแม้ว่าที่ฐานทัพส่วนหน้าจะมีโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือผ่าตัดและทีมแพทย์มากมาย และมีการนำส่งสายแพทย์ทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์อย่างเร่งด่วน แต่ทหารที่ถูกยิงนั้น กลับเสียชีวิตก่อนที่จะกลับไปถึงมือแพทย์สนามได้ จากการเสียเลือดจากบาดแผลถูกยิงที่บริเวณแขน หรือขา หรือบาดแผลจากการระเบิด จำนวนมากจนตาย แม้จะมีการใช้ทูนิเก้ที่ได้รับแจกมาแล้วก็ตาม หรือบางรายใช้ทูนิเก้แสวงเครื่องเอาเอง แต่มันก็ไม่สามารถทำงานอย่างได้ผลในสถานการณ์จริง ซึ่งต่างจากการฝึกในสภาพที่ไม่มีการปะทะหรือกดดันจากข้าศึก ฝุ่นควัน เสียงระเบิด เสียงร้อง และความสับสนวุ่นวาย ปัจจัยต่างๆในสนามรบ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้การรักษาทหารที่บาดเจ็บ ไม่เป็นไปอย่างที่ได้รับการเรียนรู้มาจากห้องเรียนเลย

สายรัดห้ามเลือดรุ่นต่างๆ CAT Training, CAT, SOFT-Wide, SOFT Gen 2, SOFT Gen 1 Tourniquets

ดังนั้นกองทัพสหรัฐจึงได้เริ่มทำการวิจัยทูนิเก้แบบมาตรฐานขึ้นมา โดยมีการออกแบบภายใต้ข้อจำกัดต่างๆมากมายจากรายงานของทหารในสนามรบ ทั้งต้องมีขนาดที่เล็ก น้ำหนักที่เบา และใช้งานง่าย แม้จะใช้ (หรือว่ายังเหลือ) มือเพียงข้างเดียว ทูนิเก้ก็จะต้องใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ทูนิเก้มาตรฐานนี้ได้รับการบรรจุอยู่ในรหัสอุปกรณ์มาตรฐานแห่งชาติ หรือ NSN และได้ถูกแจกจ่ายให้แก่ทหารสหรัฐทุกคน เพื่อการใช้ปฐมพยาบาลประจำบุคคลอย่างเร่งด่วน แต่ทว่าการออกแบบที่ผิดพลาดหรือการขาดความรู้ที่ถูกต้องในการใช้งานก็แล้วแต่ ทูนิเก้ที่ผ่านการวิจัยรุ่นแรกนั้น มีเปอร์เซ็นการรักษาที่ล้มเหลวสูงมากถึง 80% และก็ยังไม่สามารถห้ามเลือดอย่างได้ผลอยู่ดี ทำให้ทหารหลายนาย ต้องจบชีวิตลงจากความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องนี้จึงถูกนำไปเป็นปัญหาหลักของกองทัพสหรัฐ ซึ่งจัดลำดับเอาการรักษาชีวิตกำลังพล เป็นภารกิจหลักของกองทัพ โดยตั้งทีมพัฒนาและทุ่มเทการวิจัยสายห้ามเลือดรุ่นใหม่อย่างเร่งด่วนและรอบคอบกว่าเดิม เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา, งบประมาณและชีวิตไปอย่างสูญเปล่า จึงได้นำเอาทูนิเก้ที่กองทัพเรือสหรัฐได้พัฒนาล่วงหน้ามาก่อนแล้วในชื่อว่า COTS มาต่อยอด โดยไม่ต้องกลับไปงมเข็มแลกกับชีวิตทหารตัวเองอย่างที่แล้วมา
การทดลองนั้นได้เน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ การทำให้ทูนิเก้สามารถลดอัตราการไหลของเลือดได้สูงถึง 75% ที่บริเวณแขนขาของผู้ป่วย และอีกประเด็นคือ ทหารต้องสามารถใช้มันได้อย่างถูกต้องภายใต้ความกดดันในสนามรบ ทูนิเก้ต้องมีแถบกว้างไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว เพื่อลดแรงตัดไปที่เส้นเลือดและเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ซึ่งหากเนื้อตายจะเป็นสาเหตุให้ต้องตัดอวัยวะทิ้งภายหลัง การทดลองขั้นต่อมาคือ ต้องใช้วัสดุที่สามารถใช้งานได้ในสนามรบ มีทูนิเก้หลายแบบถูกวิจัยขึ้นมา แล้วพบว่าใช้งานได้ดี แต่ต้องโยนทิ้งไปภายหลัง เพราะมันไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมในสนามรบ เช่น สายยาง ท่อลาเท็กซ์ มันจะกรอบตัวลงหลังจากถูกแสง UV และความชื้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้มันขาดในเวลาที่ต้องมัดหรือขันเชนาะ เพื่อเพิ่มแรงกดให้เพียงพอบริเวณขาของผู้ป่วย ซึ่งแก้ไขโดยเก็บไว้ให้ห่างแสงแดด แต่ต้องแลกกับความยากที่จะนำออกมาใช้ หนำซ้ำยังไม่สามารถใช้งานได้ด้วยมือข้างเดียวอีกด้วย  กรณีที่มืออีกข้างใช้การไม่ได้แล้ว หรือต้องเอาปากคาบ และเอาหน้าผากกดจุดที่ผูกไว้ก่อนการขั้นเชนาะ ในสภาพที่น่าเวทนา

สายรัดห้ามเลือด รุ่น SOF Generation 1 ถูกใช้ใน Iraq

มีทูนิเก้ที่ผ่านการทดสอบซ้ำแล้วซ้ำ เล่าเพียงสองแบบเท่านั้น ซึ่งแม้มันจะหยุดเลือดได้ไม่ดีที่สุด แต่มันได้รับการยอมรับว่า มันพร้อมที่สุดในการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่ในโรงพยาบาล เช่น ในสนามรบ หรือ อุบัติเหตุบนท้องถนน นั้นก็คือ CAT (Combat Application Tourniquet) และ SOFT-T (Special Operation Force Tactical Tourniquet) การทดสอบภาคสนามพบว่า มันสามารถใช้งานได้ง่าย แม้ผู้ใช้จะมีความรู้ทางการแพทย์น้อย หรือไม่มีความรู้เลย อีกทั้งมันยังใช้งานได้ง่ายในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง หรือผู้ใช้มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ทูนิเก้ทั้งสองตัวนั้นมีการใช้งานและหน้าตาเหมือนกัน แต่ CAT นั้นมีแกนขันเชนาะเป็นพลาสติก ในขณะที่ SOFT-T นั้นเป็นโลหะ ซึ่ง CAT ได้ถูกบรรจุให้ทหารสหรัฐทุกคนต้องมีติดไว้ประจำตัว  ในขณะที่ SOFT-T นั้นได้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำตัวหน่วยรบพิเศษสหรัฐ อย่างหน่วย Ranger ของกองทัพบก SEAL ของกองทัพเรือ และ ทีม PJ พลร่มของกองทัพอากาศ รวมไปถึงหน่วยงานชั้นแนวหน้าอื่นๆ เป็นต้น

หลังจากที่ทูนิเก้รุ่นใหม่นี้ได้ถูกทดลองใช้ในสภาพต่างๆกัน อย่างทะเลทรายและในเมือง ก็ยังพบว่ายังมีปัญหาทางด้านการออกแบบอยู่นั้นคือ CAT ที่เป็นแกนพลาสติกนั้นสามารถใช้ได้หลายครั้ง หากเป็นบาดแผลบนแขน แต่ไม่สามารถขันเชนาะได้แน่นพอ ที่จะหยุดเลือดบนบาดแผลที่ขาของผู้บาดเจ็บ กองทัพบกสหรัฐจึงได้แนะนำให้แพทย์สนามนำเอาทูนิเก้แบบ SOFT-T ที่มีแกนทำจากโลหะติดตัวไปเพิ่มเติมในกรณีที่ CAT นั้นล้มเหลว จากการรัดที่ต้องใช้แรงกดมากบริเวณต้นขา ซึ่งจะทำให้แกนพลาสติกแตกได้ หลังจากนั้นกลายเป็นว่า หน่วยอื่นๆในกองทัพสหรัฐได้รับทราบถึงจุดบกพร่องนี้ และทำการสั่งซื้อ SOFT-T มาแจกจ่ายใช้งานเองแทนที่ CAT ซึ่งเป็นพลาสติก อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เมื่อทหารนำเอา CAT มาใช้ฝึกซ้อมปฐมพยาบาลนั้น ก็เป็นอันเดียวกับที่เขาเอาไปรบ ดังนั้นแกนพลาสติกจึงเริ่มบิดงอ จากการซ้อมที่ทำเป็นประจำ และไปหักเอาตอนที่จะใช้งานจริงในสนามรบ เหตุนี้ผู้ผลิตจึงได้ออกแบบ CAT รุ่นสีฟ้า เพื่อใช้ในการฝึกซ้อมเท่านั้น เพื่อทหารจะได้ไม่สับสนเอาตัวซ้อมไปใช้งานจริง แต่ CAT เองก็ยังถูกใช้ในสนามรบในฐานะของทูนิเก้ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และไม่ต้องมาเสียเวลาล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมนำกลับมาใช้ใหม่

SOFT-T ทูนิเก้นั้นมีการออกแบบมาให้ใช้งานได้คงทนกว่ามาก เพราะส่วนสำคัญของมันก็คือ แกนขันเชนาะทำมาจากอลูมิเนียมน้ำหนักเบา และมีความทนทานสูงมาก มันจึงถูกเลือกให้ใช้ทั้งกับบาดแผลบนขาที่หยุดเลือดได้ยากกว่า ซึ่งเป็นจุดที่ต้องใช้ทูนิเก้มากกว่าบริเวณอื่น เช่น บาดแผลจากการถูกยิง, การระเบิดจากกระสุนปืนค. การระเบิดจากระเบิดแสวงเครื่องต่างๆ และการบาดเจ็บจากแขนนั้น สามารถรักษาได้ง่ายกว่าขา โดยใช้เพียงการกดลงบนแผลโดยตรง ก็สามารถหยุดเลือดจากบาดแผลบริเวณแขนได้แล้ว

ในเมื่อ SOFT-T รุ่นแรกออกมาแล้ว บริษัทผู้คิดค้นและจำหน่ายอุปกรณ์ปฐมพยาบาลภาคสนาม อย่าง Tactical Medical Solutions จึงได้นำเอา SOFT-T มาพัฒนาต่อร่วมกับหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ เป็นรุ่น SOFTT-Wide (Special Operations Force Tactical Tourniquet – Wide)  ซึ่ง SOFTT-Wide นั้นได้นำเอาข้อดีของ CAT และ SOFT-T รุ่นแรกมาปรับปรุงและผสมผสานกัน และได้เพิ่มขนาดของแถบรัดขึ้นใหม่ แต่น้ำหนักเบากว่าเดิม ส่วนตัวล็อคก็ถูกออกแบบใหม่ให้มีการป้องกันการปลดหลุดเองโดยไม่ได้ตั้งใจ และมันก็ใช้งานง่ายในการพันรอบแขน หรือขาด้วยมือข้างเดียว หลังจากนั้นหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ ได้นำไปทดลองใช้โดยทันที และต่อมาได้ทำการบรรจุให้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคลแทนที่ CAT และ SOFT-T โดยทันทีเช่นกัน เนื่องจากใช้งานได้ครอบคลุมกว่า ทหารจึงไม่ต้องมาคอยพกทูนิเก้ทีละสองชนิดอีกต่อไป ซึ่งกองทัพบกสหรัฐเองก็เห็นข้อดีนี้ และกำลังปลดประจำการทูนิเก้และอุปกรณ์ห้ามเลือด ที่ไม่มีประสิทธิภาพรุ่นเดิมทิ้งทั้งหมด และกำลังเปลี่ยนมาใช้รุ่น สายรัดห้ามเลือด รุ่น Wide ด้วยเช่นกัน

สายรัดห้ามเลือด รุ่น SOF Wide

ทูนิเก้ในปัจจุบัน มีการออกแบบให้ดีขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาก และยังคงมีการพัฒนาต่อๆไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เบาขึ้น และใช้ง่ายขึ้นกว่าเดิม สายรัดห้ามเลือดได้ช่วยรักษาชีวิตทหารในอิรัค, อัฟกานิสฐาน และในสงครามต่างๆทั่วโลกเป็นประจำอยู่ในทุกวันนี้ เพราะการพัฒนาจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาดในสนามรบ ที่แลกมาด้วยชีวิตทั้งสิ้น บทเรียนของกองทัพสหรัฐเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ไม่ได้ทดสอบทูนิเก้อย่างถูกต้อง แต่กลับข้ามขั้นตอนไปแจกจ่ายให้ทหารนำไปใช้งานจริง ต้องแลกมาด้วยชีวิตทหารฝีมือดีๆที่อาสาไปออกรบมากมาย ซึ่งจริงๆแล้วสมควรจะได้รับโอกาสให้รอดตายและได้กลับบ้าน

สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทเรียนที่กองทัพของเราต้องกลับมาทบทวนและศึกษา เพื่อหยุดการสูญเสียที่ไม่จำเป็น อย่าคิดกันแต่เพียงว่า “บ้านเราก็ยังงี้แหละ ทำใจ” “กองทัพเราไม่รวยเหมือนเขา” หรือจะมีข้ออ้างใดๆ เพื่อใช้เลี่ยงการทุ่มเทและพัฒนา และหันมาถามตัวเองว่า ทำไมเราจะต้องไปซ้ำรอยเดิมของคนอื่น ในเมื่อเขาได้จ่ายราคาบทเรียนแสนแพงไปแล้วด้วยหลายชีวิต

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อุปกรณ์ช่วยชีวิตเชิงยุทธวิธี ได้ที่ Safe House ครับ

Tags: , ,

ป้าย EMT เรืองแสง Back in Stock

ป้ายแสดงเหล่าแพทย์ เครื่องหมาย EMT (Emergency Medical Technician) หมายความถึง เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ผู้ผ่านการอบรมทางการแพทย์ ในอเมริกาจะอบรมกันเป็นระดับขั้น โดยทั่วไปจะเป็น EMT-B (Basic), EMT-I (Intermediate), EMT-P (Paramedic) ชนิด glow in the dark จะเรืองแสงในที่มืด และจะดูดแสงทั้งจากแสงแดด, แสงจากไฟฟ้า หรือไฟฉาย ขนาด 9 cm x 5 cm. ติดด้านหลังด้วยแถบ Velcro มีจำหน่ายแล้วในราคาเบาๆ 2xx บาท

ใครจะเอาไปติดชุดเครื่องแบบ ชุดฝึก หรือจะสะสมก็สวยครับ หายากนะครับ exclusively ที่ Safehouse เท่านั้นครับ

Tags: ,

Tourniquets (ทูนิเก้) กับการห้ามเลือดอย่างถูกวิธี

Tourniquet (ทูนิเก้) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวกที่สุด เร็วที่สุด และรักษาชีวิตกำลังพลของเราได้มากที่สุดในสนามรบ เพราะในการรบนั้น สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ คือ การเสียเลือดอย่างรุนแรงจากบาดแผลฉกรรจ์ แต่โชคดีที่การเสียเลือดนั้น เป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ง่ายในสนามรบ มากกว่าเรื่องอื่นๆที่ต้องการการดูแลรักษาที่ซับซ้อน เช่น บาดแผลไฟไหม้รุนแรง, เลือดตกในจากการถูกกระแทก หรรือบาดแผลจากระเบิด เป็นต้น ทหารราบทั่วๆไป ก็สามารถเรียนรู้ที่จะใช้ทูนิเก้ได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการแพทย์มาก่อน

จากประสบการณ์ในสงครามอิรัคของกองทัพสหรัฐได้พิสูจน์แล้วว่า วีธีที่ง่ายที่สุดในการรักษาอาการเสียเลือดจากบาดแผลฉกรรณ์ นั้นก็คือการใช้ ทูนิเก้ (Tourniquet) หรือ สายรัดห้ามเลือด ซึ่งอุปกรณ์เล็กๆนี้ สามารถช่วยชีวิตทหารสหรัฐหลายร้อยหลายพันนาย ให้รอดชีวิตกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยมานักต่อนักแล้ว

ที่มาของสายรัดห้ามเลือด หรือทูนิเก้ ถูกออกแบบมากว่า 300 ปีมาแล้ว เดิมนั้นเพื่อใช้ห้ามเลือดในการผ่าตัด แต่ก็มีบันทึกว่ามันถูกใช้มายาวนานกว่านั้นโดยชนชาติโรมันกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นชนชาติที่มีวิทยาการทางการแพทย์สูงที่สุด ในยุคของการรบเพื่อครอบครองดินแดน ทูนิเก้ที่ใช้ในการผ่าตัดในยุคนั้น ออกแบบมาให้หยุดเลือดที่เกิดจากแผลบาดเจ็บในสงคราม ก่อนที่จะนำส่งทหารไปจนถึงโรงพยาบาลในสนามรบ และการทำงานของมันก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงหลักการ ไปจากสมัยเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบัน

แต่ก็ยังมีความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับการใช้ทูนิเก้ในสนามรบในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาว่า จะทำให้ต้องตัดแขนขาบ้าง เลือดจะไม่ไปเลี้ยงจนเนื้อเยื่อตายบ้าง ซึ่งมันไม่จริงเลย วิทยาการการแพทย์ในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีอุปกรณ์ใดในสนามรบ จะช่วยชีวิตทหารที่บาดเจ็บในระหว่างปะทะได้ดีไปกว่าการใช้ ทูนิเก้ ที่ออกแบบอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพอีกแล้ว

ความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับทูนิเก้ ที่มักจะเข้าใจกันก็คือ ถ้าใช้มันหยุดการไหลของเลือดบริเวณแขนหรือขาของผู้ป่วย  แขน หรือขาข้างนั้น จะขาดเลือดจนต้องถูกตัดทิ้งไปด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง คุณทราบหรือไม่ว่าในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลต่างๆทั่วโลก มีการใช้ทูนิเก้อยู่ทุกวี่วัน การศึกษาทางด้านการแพทย์ในยุคใหม่ ทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือ อิสราเอลแสดงให้เห็นแล้วว่า ทูนิเก้ที่ถูกออกแบบมาอย่างถูกต้องนั้น ไม่ทำให้ต้องตัดแขนและขาของผู้ป่วยแต่อย่างใด ซึ่งเราสามารถใช้รัดและล็อคปลายแขนและขาได้นานมากถึง 2 ชั่วโมงโดยไม่ต้องคลายเชนาะที่ขันไว้เลย

ในชั้นเรียนลูกเสือหรือการปฐมพยาบาลขั้นต้น มักจะสอนกันว่า ให้หาผ้าและใช้ไม้ เพื่อหมุนและขันเชนาะ แสวงเครื่องกันในป่า เมื่อขันเชนาะแล้วต้องผ่อนปมออกทุกๆ 15-20 นาที ให้เลือดได้เดินสะดวก และเนื้อเยื่อจะได้ไม่เน่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้แผลแตกออกหรือคนไข้เกิดการช็อคได้ในภายหลัง ซึ่งจะกลายเป็นทำให้แย่ลงไปกว่าการถูกตัดแขนมากนัก ดังนั้นหากไม่ถึง 2 ชม. และไม่เป็นการกีดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เราจึงไม่ควรไปปลดเชนาะของทูนิคิตอย่างเด็ดขาด นอกจากแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น

สิ่งที่ควรทำคือเมื่อเริ่มใช้งานทูนิเก้ คือ ควรจะเขียนเวลาที่เริ่มทำไว้ ในทางภาคสนามอาจใช้ปากกาหัวโตเขียนลงบนหน้าผากผู้บาดเจ็บด้วยซ้ำ เพื่อให้โรงพยาบาลหรือบุคคลากรการแพทย์ ทราบประวัติการช่วยเหลือขั้นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้สอนหรือให้ความสำคัญกันเลย

สาเหตุที่แท้จริงของคำกล่าวว่า การใช้ทูนิคิตนั้นจะทำให้ต้องตัดแขน ขา มาจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเฉพาะ หรือ ใช้อุปกรณ์แสวงเครื่องต่างๆ ที่ผิดวิธี เช่น เชือกกล้วย สายยาง ผ้าผืนเล็กเกินไป ดังนั้นในกรณีจำเป็นจะต้องหาอุปกรณ์รอบตัวมาใช้ ควรใช้แถบผ้าหรือเข็มขัดที่มีขนาดใหญ่และกว้างพอ ที่จะสร้างแรงกดไม่ให้เลือดนั้นไหลไปที่บาดแผลได้ ซึ่งแถบที่กว้างนั้นจะสามารถช่วยให้เกิดแรงกดบริเวณเส้นเลือดมากพอ จนลดการไหลเวียนของเลือดลง แต่ไม่เกิดแรงกดเฉพาะจุดที่จะตัดไปที่เส้นเลือดเพียงจุดเดียว เหมือนอย่างการใช้สายยางหรือเชือก ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายบริเวณหลอดเลือด จนต้องตัดขาหรือแขนของผู้ป่วย และต้องตัดเนื้อหรือกระดูกให้สูงจนพ้นจุดที่เนื้อเยื่อตาย หรือจุดที่ใช้สายรัดแบบแสวงเครื่องที่ผิดๆนั้นขึ้นไปอีก ซึ่งไม่มีใครต้องการจะกลายเป็นผู้พิการ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการเช่นนี้แน่ๆ

อีกอุปกรณ์หนึ่งซึ่งนิยมนำมาใช้กันผิดๆก็คือ ท่อสายยางลาเท็กส์ มันถูกออกแบบมาให้ใช้หยุดเส้นเลือดดำ (Venous) ไม่ให้ไหลกลับไปหัวใจ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้หยุดเลือดที่ไหลจากเส้นเลือดแดง (Arterial) ไปสู่แขนขา และเส้นเลือดดำนั้นก็เป็นเส้นเลือกที่อยู่ใกล้บริเวณผิวหนัง มากกว่าเส้นเลือดแดง และมีแรงดันต่ำกว่าเส้นเลือดแดงซึ่งมีสีสดกว่า แรงดันสูงกว่ามาก เส้นเลือดแดงจะอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง การใช้สายยยาง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ท่อลาเทกส์จะหยุดไม่ให้เลือดจากเส้นเลือดดำไหลกลับไปยังหัวใจ แต่ปล่อยให้เลือดจากเส้นเลือดแดงนั้น ไหลลงไปยังบาดแผลได้อยู่ดี ผลก็คือ มันจะทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้นกว่าปล่อยไว้เฉยๆ หรือไม่ทำอะไรเลยเสียอีก

สำหรับตำแหน่งที่ควรรัดทูนิเก้ สามารถทำได้สองวิธีก็คือ วิธีแรกเราจะรัดไว้เหนือบาดแผลประมาณ 1 ฝ่ามือหรือ 5 ซม. เพราะต้องการให้ส่วนที่ไม่ได้เสียหายนั้น ยังสามารถรับเลือดได้ปกติ เนื้อเยื่อปกติจึงได้รับเลือดมากที่สุด และตำแหน่งของทูนิเก้ไม่ควรอยู่ใกล้กับข้อต่อกระดูก เข่า หรือศอก เพราะหากรัดเหนือจุดดังกล่าว จะไม่สามารถสร้างแรงกดเพียงพอที่จะหยุดเลือดได้ในบริเวณนั้น อีกทั้งถึงแม้จะกดที่ผิวหนัง แต่เลือดก็ยังสามารถไหลผ่านได้ปกติบริเวณไขกระดูก จึงทำให้การใช้ทูนิเก้ในบริเวณข้อต่อนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร

วิธีต่อมาคือ ใช้ทูนิเก้รัดให้สูงที่สุด เช่น บริเวณโคนแขน แต่ต่ำกว่าซอกรักแร้หรือซอกขา วิธีนี้ใช้เมื่อไม่สามารถตรวจหาตำแหน่งแผลที่ถูกต้องได้ หรือเลือดไหลมากและไม่ต้องการเสียเวลาเปิดบาดแผล เพราะการมาไล่หาแผลฉกรรณ์ที่เสียเลือดมากนั้น มันเป็นการเสี่ยงต่อคนไข้ และเสียเวลาโดยใช่เหตุ เราจำเป็นต้องรักษาเลือดในตัวผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการหยุดเลือด

เมื่อขันเชนาะทูนิเก้แล้ว เราต้องลงเวลาที่ใส่ไว้บนตัวผู้ป่วยด้วย โดยใช้สัญลักษณตัว “T” เป็นอักษรมาตรฐานสากล หมายถึงเวลาที่เราทำการรักษา โดยปกติจะเขียนไว้บนหน้าผากของผู้ป่วย และเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากคือ เราจะไม่ปิดปกคลุมทูนิเก้ด้วยผ้าคลุมหรือผ้าห่มจนมองไม่เห็น เพราะเจ้าหน้าที่การแพทย์จะได้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และทูนิเก้จะคลายออกอีกครั้ง ก็ต่อเมื่อมีผู้ที่ได้รับการฝึกทางการแพทย์ขั้นสูงหรือแพทย์ มาเป็นผู้ถอดออกเท่านั้น

Tourniquet ทูนิเก้ : เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวกที่สุด เร็วที่สุด และรักษาชีวิตของผู้ทำหน้าที่เสี่ยง ต่อการถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บได้มากที่สุดในงานภาคสนาม หรือสภาพพื้นที่ที่อันตรายเช่นเดียวกับสนามรบ หวังว่าทหารและตำรวจของเรา จะได้มีใช้กันอย่างแพร่หลายโดยไม่ต้องคอยหาอุปกรณ์แสวงเครื่อง ในช่วงวิกฤตของการบาดเจ็บ เวลาทุกเสี้ยงวินาที หมายถึงชีวิต

เราสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจ ในการใช้งานอุปกรณ์การแพทย์เชิงยุทธวิธี ที่แตกต่างจากอุปกรณ์ปฐมพยาบาลในสภาวะการปกติ อุปกรณ์ช่วยชีวิต มีทั้งความปลอดภัย และอันตรายเหมือนอาวุธ 1.ถ้ามีไว้แต่ไม่ฝึกใช้ ก็ไร้ค่า 2.ถ้ามีของที่ไม่ปลอดภัย ก็นำมาซึ่งความตาย 3.ไม่มีและไม่ศึกษา ก็อาจจะคร่าชีวิตได้

อยากวอนขอให้หน่วยงานทางการแพทย์ ยกเลิกสายยางรัดห้ามเลือดยาว 75 ซม. ออกจากอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำกายทหาร สงสารผู้ที่จะถูกช่วยเหลือเถอะครับ ถ้าจะใช้สายยางรัดเพื่อให้น้ำเกลือก็ทำไปเถอะครับ แต่อย่าเจตนามาใช้เป็นสายรัดห้ามเลือดเลย

น่าเศร้าที่เรามัวเสียงบประมาณและเวลา ไปสนับสนุนการวิจัยทำสายรัดห้ามเลือด จากต้นแบบที่เขาพัฒนาและใช้กันอยู่แล้ว เพื่อหวังจะประหยัด ซึ่งนอกจากหมิ่นเหม่การละเมิดสิทธิบัตร และหากทำได้ไม่ดีจริง ก็จะกลายเป็นเอาชีวิตกำลังพลมาทดลอง สู้ให้สิ่งที่ถูกต้องและได้ผลจริง อย่างน้อยก็ทำบุญนะครับ มองไปยังกองทัพเพื่อนบ้าน เขาพัฒนาศักยภาพอุปกรณ์แพทย์สนามไปไกลกว่าเราแล้วครับ ทราบแล้วเปลี่ยน!

หมายเหตุ : บทความนี้ Safe House และผู้ชำนาญการการช่วยเหลือฉุกเฉินเชิงยุทธวิธี เป็นผู้จัดทำขึ้น หากท่านต้องการข้อมูลทางด้านอุปกรณ์ช่วยชีวิตภาคสนาม กรุณาสอบถามเจ้าหน้าที่ครับ

Tags: , ,