เราได้พูดถึงความสำคัญของการใช้สายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ และบทเรียนอันแสนแพงของกองทัพสหรัฐฯ ต่อพัฒนาการของทูนิเก้กันมาแล้ว ตอนนี้ปัญหาก็คือ แม้ว่าเรามีทูนิเก้ที่มีประสิทธิภาพและเรียนรู้ที่จะใช้มันแล้ว แต่หากสายรัดห้ามเลือดช่วยได้เพียง ชะลอการไหลของเลือดจากหัวใจไปยังบริเวณบาดแผล แต่หากเลือดยังคงไม่หยุดไหล ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอในการบาดเจ็บจากพื้นที่การรบ แล้วเราจะทำอย่างไร
ความยากในการห้ามเลือดจากเส้นเลือดแดง (Arterial) ซึ่งมีแรงดันสูงจากหัวใจโดยตรง มันมีสีแดงสดเพราะอุดมด้วยอ็อกซิเจน เพื่อไปหล่อเลี้ยงเซลส์ และมันไหลแรงเป็นจังหวะตามการเต้นของหัวใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะบังคับให้มันหยุดสนิทได้ และถ้าเหตุการเช่นนี้เกิดขึ้น ก็หมายความว่า แม้ว่าความแรงดันเลือดจากบาดแผลจะน้อยลง แต่ผู้บาดเจ็บยังคงเสียเลือดอย่างต่อเนื่องต่อไปอย่างช้าๆ
แรงกดจากทูนิเก้นั้น ทำงานโดยอาศัยแนวคิดว่า ยิ่งแถบที่กดลงนั้นกว้างมากเท่าไหร่ แรงกดที่กระทำต่อเส้นเลือดก็ยิ่งลดลงเท่านั้น ซึ่งนั่นก็เป็นอีกสาเหตุว่า ทำไมสายยางกลมๆเส้นเล็กๆ ถึงไม่สามารถหยุดเลือดที่ไหลจากเส้นเลือดใหญ่ได้ วิธีง่ายๆที่ใช้กันในกรณีที่ทูนิเก้อันแรกไม่ได้ผล ก็คือการใช้ทูนิเก้อันที่สองลงไปเหนืออันแรก เพื่อช่วยเพิ่มความกว้างของทูนิเก้ ซึ่งทำให้ได้แรงกดที่เพิ่มมากขึ้น เลือดก็จะหยุดง่ายขึ้น
จากเหตุผลและความเสี่ยงที่เลือกอาจไม่หยุดสนิทในคราวเดียวนี่เอง ทำให้กองทัพบกสหรัฐฯแนะนำให้ทหาร มีทูนิเก้อยู่ในชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคล คนละ 2 อัน เพื่อใช้ในสถานการณ์เลวร้ายที่เส้นเลือดใหญ่บริเวณขา (Femoral) ถูกตัดขาด ซึ่งเส้นเลือดที่มีขนาดราวๆนิ้วของเรานั้น หากจะหยุดเลือดให้ได้ผลเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากแรงดันที่สูงและกล้ามเนื้อต้นขา ก็เป็นจุดที่ต้องใช้แรงกดมาก หรือในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลฉกรรณ์ มากกว่าหนึ่งจุด อาจต้องใช้ทูนิเก้มากกว่าหนึ่งอันร่วมด้วย เรียกได้ว่ากันไว้ดีกว่าแก้ เพราะหากแก้ไม่ทัน นั่นหมายถึงชีวิตของทหารที่เราต้องเสียไปเพราะไม่ได้เตรียมการ
คิดต่อไปอีกว่า บาดแผลจากการรบอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย ซึ่งบาดแผลนั้นๆอาจจะไม่สามารถใช้สายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ได้ เช่น บาดแผลบริเวณลำตัว, บริเวณหัวไหล่, โคนขา หรือ บริเวณศรีษะ แล้วจะทำอย่างไร กองทัพสหรัฐได้เริ่มประสบปัญหากับบาดแผลเหล่านี้ เมื่อครั้งปฏิบัติการณ์ โกธิค เซอร์เพ็นท์ ที่ประเทศโซมาเลีย ในปี 1993 (Gothic Serpent,Somalia 1993) เรื่องราวดังกล่าว ถูกนำมาถ่ายทอดในภาพยนต์เรื่อง “Black Hawk Down” ในฉากที่ทหารหน่วยจู่โจมรายหนึ่ง บาดเจ็บจากกระสุนปืนของฝ่ายตรงข้าม กระสุนนั้นตัดทำลายเส้นเลือดใหญ่บริเวณต้นขาสูงขึ้นไปทางเชิงกราน ในกรณีนี้ทูนิเก้ไม่สามารถใช้งานได้เลย แพทย์สนามในภาพยนตร์ได้พยายามใช้แคลมหนีบเส้นเลือดจากต้นขา (Femoral) ของผู้บาดเจ็บ ซึ่งต้องควงเข้าไปในเนื้อขา เพื่อหาเส้นเลือดให้เจอ ในความจริงผู้ทำการห้ามเลือดให้ผู้บาดเจ็บ คือเสนารักษ์ของหน่วยรบพิเศษ 18D ซึ่งการทำเช่นนี้ในชีวิตจริงได้ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการแพทย์ ที่มีอุปกรณ์และได้รับการฝึกมาอย่างชำนาญ แต่ทหารข้างกายผู้บาดเจ็บเกือบ 100% ที่อาจจะต้องช่วยชีวิตเพื่อนร่วมรบ หรือแม้กระทั่งหัวหน้าหน่วยของเขาเอง มักจะไม่มีทั้งความรู้ทางการแพทย์และเครื่องมือแบบในหนัง แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้บาดเจ็บต้องช็อคตายไปต่อหน้าต่อตา…
ในกรณีเช่นนี้ สารห้ามเลือด Hemostatic Agents หรือสะกด Haemostatic Agent นั้น ถูกนำมาใช้เพื่อเร่งกระบวนการการแข็งตัวของเลือด ในบริเวณที่ไม่สามารถใช้สายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ได้ หรือกรณีที่การกดลงบนบาดแผลใช้ไม่ได้ผล สารห้ามเลือดยุคใหม่ที่ถูกนำมาใช้และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ QuickClot ซึ่งเป็นทั้งชื่อยี่ห้อและชื่อสินค้าในคราวเดียวกัน
QuickClot ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1984 หลังจากนั้น ได้มีการออกแบบสารช่วยห้ามเลือดอื่นๆตามมาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ Hemcon, Celox, WoundStat ฯ และก็เหมือนกับกรณีสายรัดห้ามเลือดเช่นกัน ที่ได้มีการทดลองทดสอบมากมายเพื่อหาว่า สารห้ามเลือดตัวใดจะเหมาะสมที่สุดในการใช้ปฐมพยาบาลในพื้นที่การรบ สำหรับ QuickClot รุ่นเก่านั้น มีปัญหาคือ มันเป็นสารออกฤทธ์ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งส่งผลข้างเคียงคือการไหม้ของเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผล เกิดจากปฏิกริยาของสารห้ามเลือดกับของเหลวที่สัมผัส
ส่วนการศึกษาพบว่าสารห้ามเลือดที่มีสารตั้งต้นเป็นไคโตซาน อย่าง Hemcon, Chitoflex และ Celox รวมถึง Seashell ของโรงงานเภสัชกรรมทหารของบ้านเรานั้น ให้ผลการห้ามเลือดที่ดีมาก แต่ทว่าิ สารไคโตซาน ซึ่งผลิตจากเปลือกหอย,กุ้ง,ปูนั้น ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงในผู้บาดเจ็บบางราย ที่มีอาการแพ้อาหารทะเล ส่วน WoundStat นั้น ห้ามเลือดได้ดีเกินไป จนเกิดผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
ในปัจจุบันสารห้ามเลือด หรือ Hemostatic Agent ที่ดีที่สุดในสนามรบก็คือ QuickClot Combat Gauze ซึ่งถูกพัฒนาต่อมาจาก QuickClot เดิม โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแสบร้อน หรือรอยไหม้ของเนื้อเยื่อบนบาดแผลอีกแล้ว เนื่องจากการใช้สารห้ามเลือด จะต้องใช้ร่วมกับการใช้ผ้าก็อซกดลงบนบาดแผลอยู่แล้ว และสำหรับ QuickClot Combat Gauze ได้รวมเอาสารห้ามเลือดเคลือบอยู่บนผ้าก๊อซพันแผล ไม่ใช่แบบผงเหมือนเก่า จึงใช้งานได้ง่ายกว่าสารห้ามเลือดแบบอื่นๆ ที่ต้องเทลงบนแผล
Combat Gauze นั้นเป็นผ้าพันแผลในตัว จึงช่วยลดขั้นตอนต่างๆ และใช้งานได้สะดวกและรวดเร็วกว่า การใช้งานก็ง่ายเช่นเดียวกับการใช้ผ้าก็อซ จึงทำให้ QuickClot Combat Gauze เป็นสารห้ามเลือดเพียงชนิดเดียว ที่ได้รับการแนะนำจาก คณะกรรมาธิการแพทย์ฉุกเฉินทางยุทธวิธีแห่งสหรัฐอเมริกา (COTCCC) และเป็นสารห้ามเลือดชนิดเดียวในปัจจุบัน ที่กองทัพบกสหรัฐฯอนุมัติให้ใช้ในการรักษาทหารที่บาดเจ็บในการรบ เพราะใช้งานได้ง่าย เพียงฉีกซองแล้วกดลงบนแผลเพียง 5 นาทีหรือจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ซึ่งจากการทดสอบนั้น Combat Gauze มีประสิทธิภาพสูงในการห้ามเลือด โดยสามารถหยุดการเสียเลือดรุนแรง จากการตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ขา Femoral ซึ่งเป็นจุดที่ใช้อุปกรณ์อื่นๆแทบไม่ได้เลยในงานภาคสนาม
วิวัฒนาการในการรักษาผู้บาดเจ็บจากการรบ ยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ แม้ว่าปัจจุบันการแพทย์เชิงยุทธวิธีจะรุดหน้าไปมากแล้ว แต่การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในสนามรบ ก็ยังมีเรื่องใหม่ๆมาให้ศึกษา และพัฒนาอุปกรณ์ช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ ให้ก้าวทันต่อการบาดเจ็บที่เกิดจากอาวุธและสงครามอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าสารห้ามเลือดมีราคาสูง แต่หากต้องใช้งาน นั้นหมายถึง การให้โอกาสรอดของชีวิตคนหนึ่งคน ที่กำลังอยู่ในภาวะเป็นตายเท่ากัน
ทีมงานและผู้เชี่ยวชาญของเรา มีประสบการณ์จัดอบรมการช่วยชีวิตในสภาวการณ์รบ ให้กับหลายหน่วยงานในประเทศไทย ติดต่อสอบถาม โดยส่งรายละเอียดผู้ติดต่อและหน่วยงาน มาได้ที่ Safe house ยินดีให้คำปรึกษาครับ